วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ความงามจากการสรรสร้างจากธรรมชาติ


คุณค่าความงามอยู่ในตัวของมันเองโดยธรรมชาติ ไม่ต้องมีสิ่งใดมาแต่งเติม
ความหมายของวรรณกรรม คำว่า "วรรณกรรม" มีความหมายตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "Literature Works" หรือ "General Literature" และการใช้คำว่า "วรรณกรรม" มีปรากฏครั้งแรกในพระราชบัญญัติคุ้มครองศิลปะและวรรณกรรม พ.ศ. 2475 โดยให้คำนิยามคำว่า "วรรณกรรมและศิลปกรรม" รวมกันไว้ดังนี้
" วรรณกรรมและศิลปกรรม หมายความรวมว่าการทำขึ้นทุกชนิดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ แผนกศิลปะ จะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปร่างอย่างใดก็ตาม เช่น สมุด สมุดเล็ก และหนังสืออื่น ๆ เช่น ปาฐกถา กถาอื่น ๆ เทศนา หรือวรรณกรรมอื่น ๆ อันมีลักษณะเช่นเดียวกัน หรือนาฏกียกรรม หรือนาฏกีย-ดนตรีกรรม หรือแบบฟ้อนรำและการเล่นแสดงให้คนดูโดยวิธีใบ้ ซึ่งการแสดงนั้นได้กำหนดไว้เป็นหนังสือ หรืออย่างอื่น ๆ …" คำว่า "วรรณกรรม" ก็ได้นิยมใช้กันแพร่หลายมาตามลำดับ และสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้จัดตั้งสำนักงานวัฒนธรรมทางวรรณกรรมรวมอยู่ในกระทรวงวัฒนธรรมแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2485 มีหน้าที่เผยแพร่วรรณกรรมและส่งเสริมศิลปะการแต่งหนังสือ เพื่อรักษาวัฒนธรรมไทยอย่างเป็นทางราชการสืบต่อจากวรรณคดีสโมสร ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (ธวัช ปุณโณทก. 2527 : 1) กุหลาบ มัลลิกะมาส (2517 :7) กล่าวว่า คำว่า "วรรณกรรม" มาจากการสร้างศัพท์ใหม่ แทนคำว่า "Literature" โดยวิธีสมาส หรือรวมคำ จากคำว่า วรรณ หรือ บรรณ ซึ่งหมายถึงใบไม้ หรือ หนังสือ รวมกับคำว่า กรรม ซึ่งหมายถึงการกระทำ ดังนั้นวรรณกรรม จึงหมายถึง การกระทำที่เกี่ยวกับหนังสือ โดยความหมายของวรรณกรรม หมายถึง สิ่งซึ่งเขียนขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปใด หรือเพื่อความมุ่งหมายใด ซึ่งอาจจะเป็นใบปลิวหนังสือพิมพ์ นวนิยาย คำอธิบาย ฉลากยา เป็นต้นก็ได้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 (2539 : 754) อธิบายว่า วรรณกรรม หมายถึง งานหนังสือ งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด ไม่ว่าแสดงออกมาโดยวิธีหรือในรูปอย่างใด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศัย สุนทรพจน์ สิ่งบันทึกเสียง ภาพส่วน ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ และเจตนา นาควัชระ (2520 : 58) ได้ให้ความหมายของวรรณกรรมว่า หมายถึง หนังสือ หรือเอกสาร ที่มีศิลปกรรมในฐานะที่มีรูปแบบ มีสาระเนื้อหาที่ผู้เขียนพยายามสื่อความคิดด้วยวิธีการหนึ่งมายังผู้อ่าน สิทธา พินิจภูวดล และคณะ (2515 : 35) กล่าวว่า วรรณกรรม หมายถึงงานเขียนในรูปบทกวีนิพนธ์ ร้อยกรอง และข้อเขียนทั้งหมดที่ใช้ภาษาร้อยแก้ว ได้แก่ บทความ สารคดี นวนิยาย เรื้องสั้น เรียงความ บทละคร บทภาพยนตร์ บทโทรทัศน์ ตลอดจนคอลัมน์ต่าง ๆ ในหนังสือพิมพ์ พระยาอนุมานราชธน หรือ เสฐียรโกเศศ (2515 : 24) ได้กล่าวว่า วรรณกรรมหมายถึงการกระทำหนังสือหรือหนังสือที่แต่งขึ้นทั่วไปโดยมิได้จำกัดว่าเป็นหนังสือพวกใดพวกหนึ่งโดยเฉพาะ ส่วนจะมีคุณค่ามากน้อยเพียงใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก สมพร มันตะสูตร (2525 : 10-11) อธิบายว่า วรรณกรรม หมายถึง งานเขียนทุกชนิด ทุกชิ้นที่สามารถสื่อสารได้น่าจะเป็นวรรณกรรม ซึ่งหมายความว่า เมื่อผู้แต่งส่งสารไปยังผู้รับ ผู้รับสามารถสื่อความเข้าใจจากสารที่ผู้แต่งส่งมาได้ ก็ถือว่ามีการสื่อสารกันขึ้นแล้วงานเขียนนั้นนับว่าเป็นวรรณกรรม ส่วนโจเซฟ เมอร์แซนต์ (Mersand 1973 : 313) กล่าวว่า คำจำกัดความง่าย ๆ ของวรรณกรรมก็คือ การเขียนทั้งในรูปแบบร้อยแก้วและร้อยกรอง ซึ่งถ้าพิจารณาคำจำกัดความนี้ตามหลักการแล้วบทกวีที่เขียนขึ้นเป็นครั้งแรก หรือ รายการสั่งซื้อสินค้าทางจดหมายก็เรียกว่าวรรณกรรมด้วยเช่นกัน ดังนั้นเพื่อให้ความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น วรรณกรรมจะต้องเป็นรูปแบบการเขียนที่ดี มีประเด็นน่าวิจารณ์และมีความคิดที่น่าสนใจเป็นอันดับสุดท้ายทัศนะต่าง ๆ ที่มีผู้ให้คำจำกัดความตามที่กล่าวมา มีความสอดคล้องกับความหมายของวรรณกรรมที่ให้ไว้ในการสัมมนาของชุมนุมวรรณศิลป์ 6 สถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยการค้า เมื่อปี พ.ศ. 2518 ว่า วรรณกรรมคืองานสร้างสรรค์ทางศิลปะที่ใช้ภาษาเป็นสื่อกลางไม่ว่าจะมีเนื้อหาแบบใดก็ตาม มีขอบเขตถึงงานเขียนทุกชนิด เช่น วรรณคดี นวนิยาย เรื้องสั้น บทความ รวมถึงวรรณกรรมที่เล่าสืบต่อกันมาด้วยปาก เช่น นิยายพื้นบ้าน บทเพลงต่าง ๆ เป็นต้น (อ้างถึงใน วรรณี ชาลี. 2522 : 4) อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้ให้ความหมายขชองวรรณกรรมที่แตกต่างออกไป มิใช่จำกัดอยู่แต่เฉพาะงานเขียนทั่ว ๆ ไป เช่น เอมอร ชิตตะโสภณ (2521 : 11-12,21) อธิบายว่า วรรณกรรม หมายถึงข้อเขียนต่าง ๆ ที่ทำขึ้นด้วยความปราณีต แต่ยังไม่ได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณคดี ซึ่งอาจจะเป็นเพราะกาลเวลาหนึ่ง ยังไม่มีหน่วยงานใดที่มีหน้าที่พิจารณาหนึ่ง และ ฯลฯ พร้อมกับชี้ประเด็นว่าหากจะพิจารณาว่า วรรณกรรม คืองานเขียนทั่ว ๆ ไปแล้วไซร้ ทุกอย่างที่เป็นงานเขียน เช่น พงศาวดาร ตัวบทกฏหมาย พระราชกฤษฎีกา ประกาศต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งจดหมายรัก ก็จะกลายเป็นวรรณกรรมไปหมด เราควรคำนึงถึงความจริงข้อที่ว่า วรรณกรรมในภาษาอังกฤษก็มี "Literature" ปนอยู่ด้วย ฉะนั้น วรรณกรรมไม่ควรจะเป็นเพียงงานเขียนเฉย ๆ แต่ควรจะเป็นงานที่มีศิลปะปนอยู่ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ วรรณกรรมชิ้นใดก็ตามควรจะเกิดมาจากความตั้งใจของผู้เขียนในอันที่จะถ่ายทอดความรู้สึกหรือทัศนะของเขาออกมาเป็นตัวอักษรอย่างมีศิลปะ ไม่ว่าจะจากประสบการณ์หรือแรงบันดาลใจ หรืออารมณ์สะเทือนใจก็ตาม สมพร มันตะสูตร (2524 : 5) อธิบายเพิ่มเติมจากคำจำกัดความที่ได้กล่าวมาแล้วว่า วรรณกรรม หมายถึงงานเขียนที่เกิดขึ้นจากอารมณ์สะเทือนใจ และมีศิลปะในการนำเสนอทั้งในด้านความรู้ ความคิด ความสะเทือนใจด้วย การถ่ายทอดเป็นภาษาทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ไม่จำกัดรูปแบบและเนื้อหา วรรณกรรมนั้นมีความดีเด่น ให้ความประทับใจ หรือเสถียร จันท์มาธร (2516 : 8) อธิบายว่าวรรณกรรม คือผลิตผลที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสะท้อนถ่ายความจัดเจนที่ได้รับจากการต่อสู้ของชีวิต ทั้งในทางธรรมชาติและทางสังคม เป็นการสร้างวัฒนธรรมทางศิลปะ รับใช้ผลประโยชน์ของกลุ่มความคิดที่ตนสังกัดอยู่ อย่างไรก็ตาม ความหมายของวรรณกรรมที่มีผู้ให้ไว้หลากหลายนี้ ตามความหมายของหนังสือความรู้ทั่วไปทางวรรณกรรมนั้นจะมีความหมายกว้าง โดยกินความครอบคลุมงานหนังสือทุกชนิดหรือสิ่งพิมพ์ทุกประเภท ทั้งหนังสือทั่วไป หนังสือตำรา หนังสืออ้างอิง วารสาร นิตยสาร และเอกสาร ต่าง ๆ เป็นต้น
ประเภทของวรรณกรรม เนื่องจาก วรรณคดี เป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรม ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว แม้จะมีความแตกต่างบ้างก็ตาม แต่เมื่อกล่าวถึงประเภทของวรรณกรรม ก็จะกล่าวถึง ประเภทของวรรณคดีด้วยเช่นกัน ซึ่งได้มีผู้เขียนได้แบ่งประเภท ตามเกณฑ์และลักษณะต่าง ๆ มากมาย ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้1.) แบ่งตามลักษณะการประพันธ์ มี 2 ประเภท คือ 1. วรรณกรรมร้อยแก้ว คือ วรรณกรรมที่ไม่กำหนดบังคับคำหรือฉันทลักษณ์ เป็นความเรียงทั่ว ไป การเขียนในลักษณะนี้ยังแบ่งย่อยออกเป็น 1.1 บันเทิงคดี (Fiction) คือ วรรณกรรมที่มุ่งให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านเป็นประการสำคัญ และให้ข้อคิด คตินิยม หรือ สอนใจ แก่ผู้อ่านเป็นวัตถุประสงค์รอง ดังที่ ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ (2518 : 9) กล่าวว่า บันเทิงคดี เป็นวรรณกรรมที่ผู้ประพันธ์มีจุดประสงค์ที่ให้ความเพลิดเพลิน แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าบันเทิงคดีเป็นวรรณกรรมที่ไร้สาระ บันเทิงคดีอาจมีสาระในด้านปรัชญา ด้านความเข้าใจการเมือง หรือประวัติศาสตร์ดีกว่าหนังสือสารคดีบางเรื่องก็ได้ วรรณกรรม ประเภทนี้ผู้ประพันธ์มุ่งหมายให้ความบันเทิง ต้องกระทบอารมณ์ผู้อ่าน มิใช่สำหรับให้ผู้อ่านได้ความรู้หรือความคิดเห็น บันเทิงคดีสามารถจำแนกย่อยได้ดังนี้ 1.1.1 นวนิยาย (Novel) คือ การเขียนผูกเรื่องราวของชีวิตอันมีพฤติกรรมร่วมกัน มีความสัมพันธ์กัน ในลักษณะจำลองสภาพชีวิตของสังคมส่วนหนึ่งส่วนใด โดยมีความมุ่งหมายให้ความบันเทิงใจแก่ผู้อ่าน คือให้ผู้อ่านเกิดสะเทือนอารมณ์ไปกับเนื้อเรื่องอย่างมีศิลปะ 1.1.2 เรื่องสั้น (Short Story) คือ การเขียนเรื่องจำลองสภาพชีวิตในช่วงสั้น คือมุมหนึ่งของชีวิต หรือเหตุการณ์หนึ่ง หรือช่วงระยะหนึ่งของชีวิต เพื่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจผู้อ่าน หรือ นิยามอีกอย่างหนึ่ง ว่า เรื่องสั้น คือ วิกฤตการณ์ชุดหนึ่ง มีความสัมพันธ์สืบเนื่องกัน และนำไปสู่จุดยอดหนึ่ง (Climax) ( ธวัช บุณโณทก 2537 : 12) 1.1.3 บทละคร (Drama) คือการเขียนที่ใช้ประกอบการแสดงเพื่อให้เกิดความบันเทิง เช่น บทละครวิทยุ บทละครพูด และบทละครโทรทัศน์ เป็นต้น 1.2 สารคดี (Non-Fiction) คือ วรรณกรรมที่มุ่งให้ความรู้ หรือ ความคิด เป็นคุณประโยชน์สำคัญ อาจจะเขียนเชิงอธิบายเชิงวิจารณ์ เชิงพรรณนาสั่งสอน โดยอธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างมีระบบมีศิลปะในการถ่ายทอดความรู้ เพื่อมุ่งตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นให้แก่ผู้อ่าน และก่อให้เกิดคุณค่าทางปัญญาแก่ผู้อ่าน ซึ่ง ธวัช ปุณโณทก ( 2527 : 11 ) ได้แบ่งย่อยดังนี้ 1.2.1 ความเรียง (Essay) คือ การถ่ายทอดความรู้ อาจจะได้มาจากการประสบ หรือตำราวิชาการ มาเป็นถ้อยความตามลำดับขั้นตอนเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตามความรู้ ความคิดที่ผู้เขียนเสนอมา บางครั้งมีผู้เรียกว่า "สารคดีวิชาการ" 1.2.2 บทความ ( Article) คือความคิดเห็นของผู้เขียนต่อเรื่องราวที่ประสบมาหรือต่อข้อเขียนของผู้อื่น หรือต่อเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ในการเขียนบทความผู้เขียนมุ่งที่จะบอกถึงความเห็น ความรู้สึกนึกคิดมากกว่าที่จะถ่ายถอดความรู้เหมือนความเรียง 12.3. สารคดีท่องเที่ยว ( Travelogue) คือ การบันทึกการท่องเที่ยวและเรื่องราวต่าง ๆ ที่ประสบพบเห็นขณะที่ท่องเที่ยวไป โดยมุ่งที่จะให้ความรู้แก่ผู้อ่านและให้ความเพลิดเพลินด้วย 1.2.4. สารคดีชีวประวัติ (Biography) คือ การบันทึกพฤติกรรมต่าง ๆ ของบุคลิกภาพหนึ่งมุ่งที่จะให้เห็นสภาพชีวิตประสบการณ์ของบุคลิกภาพนั้นทุกแง่ทุกมุม แต่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ และนิยาย 1.2.5. อนุทิน (Diary) คือการบันทึกประจำวันที่เกิดขึ้นแก่ตนเอง จะเป็นการบันทึกความรู้สึกนึกคิดของตนเองในประจำวัน หรืออาจจะบันทึกประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน หรือบันทึกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเตือนความจำ 1.2.6. จดหมายเหตุ ( Archive) คือ การบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของทางราชการ หรือบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของสถาบัน หน่วยงานหรือตระกูล โดยมีความมุ่งหมายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานเชิงประวัติเหตุการณ์ของชาติ หรือของสถาบัน หรือหน่วยงานราชการ หรือของตระกูล 2. วรรณกรรม ร้อยกรอง คือ วรรณกรรมที่การเขียนมีการบังคับรูปแบบด้วยฉันทลักษณ์ต่างๆ เช่น บังคับคณะ บังคับคำ และแบบแผนการส่งสัมผัสต่าง ๆ บางครั้งเรียกงานเขียนประเภทนี้ว่า กวีนิพนธ์ หรือ คำประพันธ์ เช่น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ลิลิต เป็นต้น นอกจากนี้วรรณกรรมร้อยกรองยังแบ่งเป็นชนิดย่อย ๆ ดังนี้ 2.1. วรรณกรรมประเภทบรรยาย (Narrative) คือ วรรณกรรมร้อยกรองที่มีโครงเรื่อง ตัวละคร และเหตุการณ์ต่าง ๆ ผูกเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกันไป เช่น ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี อิเหนา เป็นต้น 2.2. วรรณกรรมประเภทพรรณา หรือ รำพึงรำพัน ( Descriptive or Lyrical) มักเป็นบทร้อยกรองที่ผู้แต่งมุ่งแสดงอารมณ์ส่วนตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่มีโครงเรื่อง เช่น นิราศ และเพลงยาว เป็นต้น (ประทีป เหมือนนิล . 2519 : 22-23.) 2.3. วรรณกรรมประเภทบทละคร (Dramatic) เป็นบทร้อยกรองสำหรับการอ่านและใช้เป็นบทสำหรับการแสดงด้วย เช่น บทพากย์โขน บทละครร้อง บทละครรำ เป็นต้น2) แบ่งตาม ลักษณะเนื้อเรื่อง มี 2 ประเภท คือ 1. วรรณกรรมบริสุทธิ์ (Pure Literature) หมายถึง วรรณกรรมที่แต่งขึ้นจากอารมณ์สะเทือนใจต่าง ๆ ไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะให้วรรณกรรมนั้น ทรงคุณค่าในทางใดเป็นพิเศษ แต่วรรณกรรมนั้นอาจจะล้ำค่า ในสายตาของนักอ่านรุ่นหลังๆ ก็เป็นได้ แต่มิได้เป็นเจตจำนงแท้จริงของผู้แต่ง ผู้แต่งเพียงแต่จะแต่งขึ้นตามความปรารถนาในอารมณ์ของตนเองเป็นสำคัญ 2. วรรณกรรมประยุกต์ (Applied Literature) หมายถึงวรรณกรรมที่แต่งขึ้นโดยมีเจตจำนงที่สนองสิ่งใดสิ่งหนึ่งอาจเกิดความบันดาลใจที่จะสืบทอดเรื่องราวความชื่นชมในวีรกรรมของผู้ใดผู้หนึ่งนั่นหมายถึงว่า มีเจตนาจะเขียนเรื่องราวขึ้นเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่ง หรือมีจุดมุ่งหมายในการเขียนชัดเจน มิใช่เพื่อสนองอารมณ์อย่างเดียว เช่น วรรณกรรมประวัติศาสตร์ วรรณกรรมการละคร และอาจหมายรวมถึงพงศาวดารต่าง ๆ ด้วย (สมพร มันตะสูตร 2526 : 6) 3) แบ่งตามลักษณะการถ่ายทอด มี 2 ประเภท คือ 1. วรรณกรรมมุขปาฐะ หมายถึง วรรณกรรมที่ถ่ายทอดโดยการบอก การเล่า และการขับร้อง ไม่ว่าจะเป็นในโอกาสหรือในวาระใด เช่น ในการนอน การเต้น การรำ หรือพิธีกรรมต่าง ๆ วรรณกรรมมุขปาฐะมีปรากฏมานาน จึงมีอยู่ทุกภูมิภาคของโลก การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะวรรณกรรมประเภทนี้เป็นผลสืบเนื่องจากภาษาของมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีภาษาพูดก็ย่อมมีโอกาสถ่ายทอดจิตนาการและอารมณ์ได้มากขึ้น ประกอบกับภาษาพูดสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายและเร็วกว่าภาษาเขียน ดังนั้นวรรณกรรมมุขปาฐะจึงมีมาก และมีมานานกว่าวรรณกรรมประเภทอื่น 2. วรรณกรรมลายลักษณ์ หมายถึง วรรณกรรมที่ถ่ายทอดโดยการเขียน การจาร และการจารึก ไม่ว่าจะเป็นการกระทำลงบนวัสดุใด ๆ เช่น กระดาษ เยื่อไม้ ใบไม้ แผ่นดินเผา หรือ ศิลา วรรณกรรมลายลักษณ์เป็นวรรณกรรมที่พัฒนาสืบต่อมาจากวรรณกรรมมุขปาฐะ กล่าวคือ เกิดขึ้นในยุคที่มนุษย์เริ่มรู้จักใช้สัญลักษณ์หรือตัวอักษร เพื่อบันทึกความในใจ ความรู้สึก และความคิดเห็นของตน เพื่อถ่ายทอกให้ผู้อื่นรับรู้นั่นเอง และเนื่องจากตัวอักษรเป็นเครื่องมือบันทึกที่สื่อสารกันได้กว้างไกลและยั่งยืน มนุษย์จึงสร้างวรรณกรรมประเภทนี้กันอย่างกว้างขว้างในทุกภูมิภาคของโลกขณะเดียวกันก็พัฒนาเทคนิคและรูปแบบการสร้างวรรณกรรมให้เจริญมาเป็นลำดับ วรรณกรรมลายลักษณ์จึงกลายเป็นมรดกที่มนุษยชาติไม่อาจปฏิเสธได้ (ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์. 2525 : 25)4) แบ่งตามลักษณะของเนื้อหา (ซึ่งจะเน้นไปทางด้านวรรณคดีไทยเป็นส่วนใหญ่) มี 7 ประเภท คือ 1. วรรณคดีนิราศ วรรณคดีประเภทนี้มีลักษณะเฉพาะตัว เป็นการเขียนในทำนองบันทึกการเดินทาง การพลัดพราก การคร่ำครวญเมื่อต้องไกลที่อยู่อาศัย คนรักหรือสิ่งรัก การเขียนในเชิงนิราศนี้มีรูปแบบโดยเฉพาะ เป็นวรรณคดีที่กวีนิยมเขียนกันมาก มีวรรณคดีมากมายหลายเรื่อง เช่น กำสรวลศรีปราชญ์ ทวาทศมาส นิราศของสุนทรภู่ นิราศของพระยาตรัง นิราศนรินทร์ เป็นต้น 2. วรรณคดีเฉลิมพระเกียรติ เป็นวรรณคดีในเชิงประวัติศาสตร์การบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินในทำนองสรรเสริญพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ วรรณคดี ประเภทนี้มีปรากฏอยู่ในวรรณคดีเป็นจำนวนมากมาย เช่น ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตตะเลงพ่าย เพลงยาวเฉลิมพระเกียติร และโคลงเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ รวมทั้งวรรณคดีประเภทที่ต้องการบันทึกเรื่องราวสำคัญบางประการ เช่น โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์ เป็นต้น 3. วรรณคดีศาสนา วรรณคดีประเภทนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม คือ มีอิทธิพลมาจากความเชื่อทางศาสนา เช่น มหาชาติฉบับต่าง ๆ พระปฐมสมโพธิกถา ไตรภูมิพระร่วง ไตรภูมิฉบับต่าง ๆ รวมทั้งวรรณคดีจากชาดก ทั้งนิบาตชาดกและปัญญาสชาดก นันโทปทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง เป็นต้น 4. วรรณคดีที่เกี่ยวกับพิธีการขนบธรรมเนียมประเพณี เนื้อหาของวรรณคดีประเภทนี้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี หรือ พิธีการต่าง ๆ เช่น ตำรานางนพมาศ พระราชพิธีสิบสองเดือน ฯลฯ 5. วรรณคดีสุภาษิต วรรณคดีประเภทนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคำสอน ข้อเตือนใจ เช่น กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ สุภาษิตพระร่วง โคลงราชสวัสดิ์ อิศรญาณภาษิต เป็นต้น 6. วรรณคดีการละครหรือนาฏวรรณคดี วรรณคดีประเภทนี้นำไปใช้แสดงละคร หรือการแสดงทางนาฏศิลป์ในลักษณะอื่น เช่น เรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ สังข์ทอง ไกรทอง เป็นต้น 7. วรรณคดีนิยาย วรรณคดีประเภทนี้ถ้าเขียนเป็นการประพันธ์ประเภทกลอนจะเรียกว่ากลอนประโลมโลกย์ วรรณคดีนิยายนี้มีทั้งไม่เขียนเป็นกลอน เช่น ลิลิตพระลอ และที่เขียนเป็นกลอน เช่น พระอภัยมณี เสภาขุนช้าง - ขุนแผน เป็นต้น5) แบ่งตามบ่งเกิดหรือที่มาของวรรณกรรม มี 6 ประเภท คือ 1. วรรณกรรมอันเกิดจากการบอกเล่า หมายถึง วรรณกรรมที่บันทึกหรือถ่ายทอดจากผู้รู้ ผู้คงแก่เรียน หรือนักปราชญ์แต่ละสาขาของความรู้ วรรณกรรมจากบุคคลเหล่านี้จึงเป็นวรรณกรรมที่เรียกกันว่า "ตำรา" วรรณกรรมประเภทนี้อาจจะสมบูรณ์ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องทั้งหมดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อถือและการพิสูจน์ โดยกรรมวิธีต่าง ๆ แต่โดยทั่วไปก็มักเชื่อโดยอนุโลมว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือได้ 2. วรรณกรรมอันเกิดจากญาณทัศน์ หมายถึงวรรณกรรมที่เกิดจาการหยั่งรู้โดยญาณ ซึ่งหมายถึง ปัญญา การหยั่งรู้ อาจจะเกิดจากการครุ่นคิด ไตร่ตรอง เพื่อหาคำตอบ เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อให้พ้นสงสัย แล้วจู่ ๆ ก็เกิดความรู้ในเรื่องนั้นผุดขึ้นในความคิดและได้คำตอบโดยไม่คาดฝัน จากคำตอบนั้นจึงได้นำมาบันทึกเป็นวรรณกรรม เราเรียกวรรณกรรมนี้ว่า วรรณกรรมอันเกิดจากญาณทัศน์ในบางกรณีเมื่อมีแรงดลใจหรือจินตนาการบางอย่าง ก็อาจเกิดการหยั่งรู้ขึ้น ความรู้ที่เกิดจากญาณทัศน์นี้ นับเป็นจุดกำเนิดจองความรู้เชิงปรัชญา และพัฒนาไปเป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์บ้าง สังคมศาสตร์บ้าง และศิลปกรรมบ้าง จนในที่สุดที่กลายเป็นวรรณกรรมในสาขาวิชาต่าง ๆ ไป เช่น วรรณกรรมวิทยาศาสตร์ วรรณกรรมสังคมศาสตร์ เป็นต้น 3. วรรณกรรมอันเกิดจากเหตุผล หมายถึง วรรณกรรมที่เกิดจากการให้หลักของเหตุผล ซึ่งเป็นวิธีการทางตรรกวิทยา วรรณกรรมประเภทนี้เป็นบันทึกความรู้ที่เกิดจากการอ้างอิงความเป็นจริง หรือความรู้ที่มีอยู่แล้ว เพื่อนำไปสู่ความรู้ใหม่ วรรณกรรมทางคณิตศาสตร์นับเป็นวรรณกรรมที่เกิดขึ้นจากกรณีนี้โดยแท้จริง 4. วรรณกรรมอันเกิดจากคัมภีร์ หมายถึง วรรณกรรมที่เกิดจากความเชื่อหรือวรรณกรรมที่บันทึกความเชื่อของมนุษย์ วรรณกรรมดังกล่าวนี้มีมูลฐานมาจากความเชื่อที่ว่าเป็นควาามรู้ที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้แก่ศาสดา เพื่อนำไปเผยแพร่แก่มวลมนุษย์ ส่วนใหญ่จะเป็นความรู้ที่ประมวลไว้ในคัมภีร์ทางศาสนา เช่น คัมภีร์พระไตรปิฏกของศาสนาพุทธ คัมภีร์อุปนิษัท และภควัทคีตาของศาสนาฮินดู คัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ และคัมภีร์อัลกรุอานของศาสนาอิสลาม เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่าศาสนาสำคัญ ๆ ของโลก มักจะมีคัมภีร์เป็นแหล่งประมวลคำสอนของศาสนา โดยถือว่าเป็นพระวัจนะของศาสดา วรรณกรรมประเภทนี้จึงได้รับการยอมรับจากศาสนิกชน หรือผู้นับถือศาสนานั้น ๆ ว่าเป็นวรรณกรรมอันเป็นสัจธรรม หรือความจริงอันแท้ 5. วรรณกรรมอันเกิดจากการประจักษ์ หมายถึง วรรณกรรมที่บันทึกความรู้มาจากวิธีวิทยาศาสตร์ การสังเกต การทดลอง การพิสูจน์ความจริง โดยการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ และแปลความหมายของข้อมูล วรรณกรรมประเภทนี้นับเป็นรากฐานของวิชาการวิจัยในยุคปัจจุบัน เพราะในปัจจุบันวงการศึกษา และอาชีพทั้งหลาย ต่างนำเอาวิธีการวิจัยเข้าไปใช้ในการพัฒนางานของตนอย่างกว้างขวาง จึงนับเป็นวรรณกรรมที่ได้รับการยอมรับสูงที่สุดในปัจจุบัน 6. วรรณกรรมอันเกิดจากวรรณศิลป์ หมายถึงวรรณกรรมที่เกิดจากศิลปะการประพันธ์ โดยมีสุนทรียภาพ จินตนาการ และสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยการผลิตสิ่งเร้าที่สะท้อนเข้าสู่จิตนั้นมีหลายอย่างสุดแท้แต่ว่าบุคคลอยู่ในสภาพแวดล้อมใดสิ่งเร้าที่นับว่ามีอิทธิพล และเป็นปัจจัยในการสร้างวรรณกรรมมาก ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ธรรมชาติ ศาสนา และความเชื่อ เป็นต้น (ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ 2525 : 25-27)6) แบ่งตามคุณค่าที่มุ่งให้กับผู้อ่าน มี 3 ประเภท คือ 1. วรรณกรรมที่ให้ความรู้หรือความคิด เช่น สารคดี รายงาน ตำรา พระราชพิธีพงศาวดาร 2. วรรณกรรมมุ่งให้ความเพลิดเพลิน เช่น บทละคร นิทาน นิยาย เรื่องสั้น 3. วรรณกรรมที่มุ่งผสมผสานความรู้ ความคิด และความบันเทิงเข้าด้วยกัน ผลงานนี้อาจอยู่ในวรรณคดีประเภทต่าง ๆ ได้ (วิภา กงกะนันทน์ 2523 : 32-34) สำหรับ ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ (2525 : 28) แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้คือ 1. วรรณกรรมเชิงวิชาการ หมายถึงวรรณกรรมที่มีจุดประสงค์หรือมีพันธกิจหลัก คือการให้ความรู้ความคิด อันได้จากการบอกเล่า จากญาณทัศน์ จากเหตุผล จากคัมภีร์ และจากการประจักษ์ วรรณกรรมประเภทนี้มุ่งเสนอเนื้อหาแก่ผู้อ่านเป็นสำคัญและไม่สู้จะให้ความสำคัญในเรื่องรูปแบบเทคนิค และกลวิธีการประพันธ์มากนัก กล่าวโดยสรุปก็คือเป็นวรรณกรรมที่มุ่งให้ความรู้เชิงวิชาการนั่นเอง 2. วรรณกรรมเชิงวรรณศิลป์ หมายถึงวรรณกรรมที่แต่งขึ้นโดยเน้นรูปแบบ เทคนิค และกลวิธีการประพันธ์ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเนื้อเรื่อง แต่การเสนอความรู้ความคิดนั้น ไม่เน้นในเรื่องข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงเท่ากับความบันเทิง และสุนทรียภาพ กล่าวโดยสรุปก็คือ เป็นวรรณกรรมที่มุ่งให้ความบันเทิงและสุนทรียภาพนั่นเอง7) แบ่งตามรูปแบบหรือวัสดุและสื่อของการเสนอของวรรณกรรม มี 2 ประเภท คือ 1. วรรณกรรมในรูปของวัสดุสิ่งพิมพ์ (Printed Materials) หมายถึง วรรณกรรมที่ถ่ายทอดงานเขียนที่เป็นตัวอักษรและใช้กระดาษเป็นหลัก แบ่งย่อยออกเป็น 1.1 หนังสือ แบ่งออกเป็น 1.1.1 หนังสือสารคดี (Nonfiction Book) ซึ่งครอบคลุมถึง 1.1.1.1 หนังสือตำราวิชาการ (Textbook) เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นตามหลักสูตรในสถาบันการศึกษาระดับต่าง ๆ โดยเล่มหนึ่ง ๆ อาจจะเขียนครอบคลุมเนื้อหาในรายวิชาใดวิชาหนึ่งอย่างครบถ้วน หรืออาจเขียนเจาะเฉพาะหัวข้อใหญ่ ๆ หัวข้อใดหัวข้อหนึ่งก็ได้ หนังสือนี้ถ้าเป็นระดับการศึกษาสามัญคือ ประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา จะเรียกว่า หนังสือแบบเรียน ซึ่งต้องเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาตรงตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดและได้รับอนุมัติให้ใช้เป็นแบบเรียนได้ สำหรับระดับอุดมศึกษานั้นเรียกตำราวิชาการ คือจะกำหนดกรอบเนื้อหาไว้ให้ ส่วนผู้เขียนจะเขียนให้กว้างขวางหรือเจาะลึกอย่างไรก็แล้วแต่บุคคล 1.1.1.2 หนังสือเรียนและหนังสืออ่านประกอบ (Supplementary Reading) เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อใช้อ่านประกอบในเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ที่เล่าเรียนอยู่ในสถานศึกษา โดยมีเนื้อหาละเอียดขึ้น พิสดารขึ้น เจาะลึกขึ้น สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมให้ได้ความรู้ที่กว้างขวางไปอีก 1.1.1.3 หนังสือความรู้ทั่วไป เป็นหนังสือที่ผู้เขียนต่างๆ เรียบเรียงขึ้นตามที่ตนสนใจศึกษาค้นคว้าหรือที่รวบรวมได้ มิได้มุ่งหวังจะให้เป็นตำราสำหรับวิชาหนึ่งวิชาใด แต่เป็นการเสนอความรู้ในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง 1.1.1.4 หนังสืออ้างอิง (Reference Book) เป็นหนังสือที่มีลักษณะพิเศษ ทำขึ้นเพื่อเป็นการรวบรวมความรู้หลากหลายสาขาเอาไว้รวมกัน หรืออาจรวบรวมความรู้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของแต่ละสาขาเอาไว้ หนังสือพวกนี้จะมีลักษณะหนาหลายหน้า หรือเป็นชุดหลายเล่มจบ เวลาใช้ไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งหมด เพียงค้นหาคำตอบเฉพาะที่ต้องการใช้ก็พอ เช่นสารานุกรม พจนานุกรม หรือหนังสือคู่มือสาขาวิทยาศาสตร์ นามานุกรม เป็นต้น 1.1.1.5 รายงานวิจัย เป็นรายงานการศึกษาค้นคว้าในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง มีการจัดทำตามลำดับขั้นตอนวิธีวิจัยแบบต่าง ๆ นำข้อมูลมาวิเคราะห์ใช้สถิติต่าง ๆ ประกอบ และสรุปผลวิจัยออกมา เขียนอย่างมีระเบียบแบบแผน 1.1.1.6 ปริญญานิพนธ์หรือวิทยานิพนธ์ (Theses or Dissertation) เป็นบทนิพนธ์ที่เรียบเรียงขึ้นประกอบการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเนื้อหาเป็นผลการวิจัยในเรื่องที่ผู้ศึกษาสนใจ ส่วนใหญ่จะเป็นการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ หรือเป็นการพิสูจน์ทฤษฎีที่มีผู้กล่าวไว้หรือเป็นการพิสูจน์สมมุติฐานในเรื่องที่เป็นข้อสงสัย ซึ่งรูปแบบอาจจะแตกต่างกันไปแต่ละสถาบัน 1.1.1.7 คู่มือสถานศึกษา เป็นหนังสือที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทำขึ้นเพื่อบอกรายละเอียดเกี่ยวกับสถาบันนั้น ๆ นับแต่ ประวัติ คณะวิชาที่เปิดสอน รายวิชาของคณะวิชาต่าง ๆ ระเบียบการเรียน ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รายชื่อคณาจารย์ 1.1.1.8 สิ่งพิมพ์รัฐบาล เป็นหนังสือ เอกสารที่ผลิตโดยหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ อาจจะเป็นการรายงานกิจการประจำปีของหน่วยงาน อาจจะเป็นรายงานการประชุมทางวิชาการที่หน่วยนั้นจัดขึ้น อาจจะเป็นสถิติข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่หน่วยงานนั้นรับผิดชอบอยู่ หรืออาจจะเป็นเอกสารเผยแพร่เชิงวิชาการในเรื่องที่หน่วยงานนั้นเชี่ยวชาญ 1.1.2 หนังสือบันเทิงคดี (Fiction Book) เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นจากจินตนาการ มุ่งให้ความบันเทิงเป็นสำคัญ แบ่งย่อยได้ดังนี้ 1.1.2.1 หนังสือนวนิยาย 1.1.2.2 หนังสือรวมเรื่องสั้น 1.1.2.3 หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน ส่วนใหญ่เป็นหนังสือภาพ หรือเป็นเรื่องสั้น ๆ เขียนเพื่อสอนจริยธรรมแก่เด็ก หรือให้ความรู้ที่เด็กควรรู้ มักจะมีขนาดบาง หน้าไม่มากนักอย่างไรก็ตาม หนังสือเด็กและเยาวชนที่มีชื่อเดียว อาจเป็นการบันเทิงล้วน ๆ แต่แทรกคติสอนใจไว้อย่างเนียบเนียน 1.2 สิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง หมายถึง สิ่งพิมพ์ที่ออกต่อเนื่องกันตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ สิ่งพิมพ์ประเภทนี้เมื่อก่อนภาษาอังกฤษใช้คำเรียกคลุมกว้าง ๆ ว่า periodicals แต่ปัจจุบันใช้คำว่า serials ซึ่งครอบคลุมถึงสิ่งพิมพ์ต่อไปนี้ 1.2.1 หนังสือพิมพ์รายวัน สิ่งพิมพ์ที่ออกประจำวัน แต่ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ในท้องถิ่นอาจจะเป็นราย 7 วัน หรือราย 10 วัน ราย 15 วัน ตามความเหมาะสม หนังสือพิมพ์จะเสนอข่าวความเคลื่อนไหวเหตุการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสังคมหรือเหตุการณ์ที่สังคมสนใจ นอกจากนี้ยังเสนอบทความ ความคิดเห็นต่อเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เสนอเรื่องทางวิชาการ ตลอดจนนวนิยาย สารคดีที่น่าสนใจต่าง ๆ หนังสือพิมพ์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.2.1.1 ประเภทเสนอข่าวให้คิด เสนอข่าวแนวการเมือง และเศรษฐกิจ 1.2.1.2 ประเภทเสนอข่าวให้ร้าวใจ ข่าวมีรายละเอียดมากเพื่อเร้าใจให้ผู้อ่านติดตามเรื่องราว หนังสือพิมพ์ประเภทนี้ มุ่งเสนอข่าวประเภทอาชญากรรม ข่าวอุบัติเหตุ ข่าวบันเทิง 1.2.2 วารสาร (Periodicals) เป็นสิ่งพิมพ์ที่พิมพ์เผยแพร่มีชื่อเรียกแน่นอน และมีกำหนดเวลาออกไว้แน่นอน เช่น รายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน ราย 2 เดือน เป็นต้น ตีพิมพ์บทความและเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทันสมัยไว้ในเล่มเดียวกันเขียนโดยผู้เขียนหลายคน เนื้อหาสาระภายในจะเป็นเรื่องในแนววิชาเดียวกัน หรือเป็นเรื่องหลายเรื่องหลายแบบรวม ๆ กันก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการจัดทำวารสารนั้น ๆ เนื้อเรื่องจะจบในฉบับหรือต่อเนื่องกันไปหลายฉบับก็ได้ รูปเล่มของวารสารชื่อหนึ่ง ๆ มักจะเป็นแบบเดียวกันและจะให้หมายเลขของปีที่ (Volume) ฉบับที่ (Number) หรือวันเดือนปี (Date) ประจำฉบับไว้ด้วยโดยเลขที่ดังกล่าวจะต่อเนื่องกับฉบับก่อน ๆ ที่ตีพิมพ์มาแล้ว วารสารแบ่งตามลักษณะเนื้อหาได้ 3 ประเภท ดังนี้ 1.2.2.1 วารสารวิชาการ (Journals) เป็นวารสารที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้และวิชาการต่าง ๆ เนื้อเรื่องจะให้ความรู้ทางวิชาการ รวมทั้งนำเสนอผลงานทางวิชาการ หรือผลการวิจัยที่ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน จัดทำโดยนักวิชาการนั้น ๆ โดยตรง 1.2.2.2 วารสารทั่วไปหรือนิตยสาร (Magazines) เป็นวารสารสำหรับผู้อ่านทั่วไป มุ่งให้ทั้งความรู้และความบันเทิง ความรู้มักเป็นไปในลักษณะที่ให้ความรอบรู้ ความเข้าใจและทัศนคติในเชิงวิเคราะห์ ไม่ให้เนื้อหาทางวิชาการล้วน ๆ อาจแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือก. ประเภทมุ่งเสนอความบันเทิงเป็นหลัก เนื้อเรื่องส่วนใหญ่จะเป็นนวนิยาย เรื่องสั้น อาจจะแทรกเกร็ดความรู้ สารคดี เรื่องราวเบ็ดเตล็ด และสรุปข่าว เหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้ด้วยข. ประเภทที่ให้ความรู้มากกว่าความบันเทิงหรือมีทั้งสองอย่างก้ำกึ่งกัน 1.2.2.3 วารสารเสนอข่าวเชิงวิจารณ์ (News Magazines) หมายถึง วารสารที่เสนอบทความและบทวิจารณ์ อธิบายข่าว วิเคราะห์ข่าว สรุปข่าวทางด้านการเมืองเศรษฐกิจ การศึกษาศิลปกรรม ภาพยนตร์ และอื่น ๆ เนื้อหาส่วนใหญ่ค่อนข้างหนัก เช่น มติชนสุดสัปดาห์ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ เนชั่นสุดสัปดาห์ เป็นต้น
1.2.3 หนังสือรายปี (Yearbook) เป็นสิ่งพิมพ์ที่ออกประจำต่อเนื่องกันทุกปี เช่นรายงานประจำปี รายงานการประชุมประจำปี สิ่งพิมพ์ประเภทนี้เมื่อห้องสมุดได้มา ส่วนใหญ่จะจัดรวมอยู่กับพวกหนังสือ 1.3 จุลสาร (Pamphlet) เป็นหนังสือที่มีเรื่องราวสั้น ๆ มีความหนาไม่มาก โดยประมาณก็คือ 60 หน้า หรืออาจจะหนากว่านี้เพียงเล็กน้อย2. วรรณกรรมในรูปของวัสดุไม่ตีพิมพ์ (Non-Printed Materials) หมายถึงวรรณกรรมที่ถ่ายทอดงานลงในวัสดุไม่ตีพิมพ์ หรือโสตทัศนวัสดุ ซึ่งวรรณกรรมประเภทนี้บางครั้งได้ถ่ายทอดมาจากวรรณกรรม ภาพยนต์ที่นำเรื่องจากวรรณกรรมมาถ่ายทอดทำ หรืออาจจัดทำขึ้นโดยเฉพาะก็ได้ บทเพลงที่บันทึกลงในแผ่นเสียง แถบบันทึกเสียง หรือ แผ่นดิสก์ เป็นต้น วรรณกรรมในรูปของวัสดุไม่ตีพิมพ์ แบ่งย่อยออกเป็น 2.1 โสตทัศนวัสดุ (Audio Visual Materials) ได้แก่ 2.1.1 แผ่นเสียง (Phonodisc) ทำด้วยครั่งหรือพลาสติก ผิวบนจะถูกเซาะเป็นร่องเล็ก ๆ ติด ๆ กันเป็นวงกลม มีความสูงต่ำไม่เท่ากัน เวลาใช้ต้องใช้กับเครื่องเล่นแผ่นเสียง เข็มของเครื่องเล่นจะครูดไปตามร่องของแผ่นเสียง จะเกิดการเสียดสีไปตามความลึกตื้นของร่อง ทำให้เกิดการสั่นสะเทือน เข็มจะส่งสัญญาณไปแปลงเป็นคลื่นไฟฟ้า แล้วแปลงต่อเป็นคลื่นแม่เหล็ก และเป็นคลื่นเสียงในที่สุด แผ่นเสียงมีหลายขนาด เช่น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว แต่ละขนาดความเร็วสำหรับการหมุนแผ่นก็จะไม่เท่ากัน 2.1.2 แถบบันทึกเสียงหรือเทปบันทึกเสียง (Phonotape) เป็นแถบแม่เหล็กที่บันทึกคลื่นเสียงเอาไว้ ที่นิยมกันมีแบบเป็นม้วน (reel tape) และแบบคาสเส็ท (cassette tape) 2.1.3 แผนเสียงระบบดิจิตอล (Compact Digital Audio Disc) เป็นแผ่นอะลูมิเนียมฉาบด้วยพลาสติกใสแล้วเคลือบด้วยแลกเกอร์ใสและแสงผ่านได้สัญญาณจะถูกอ่านด้วยลำแสงเลเซอร์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 ซม. สัญญาณเสียงที่ออกมาจะใกล้เคียงมากที่สุด 2.1.4 ภาพยนตร์ (Motion Pictures) คือภาพถ่ายที่เป็นภาพนิ่งชนิดโปร่งใสที่บันทึกอิริยาบทหรืออาการเคลื่อนไหวติดต่อกัน เป็นจำนวนอย่างน้อย 16 ภาพ/วินาที ลงบนแผ่นฟิล์ม เมื่อนำเอาภาพซึ่งอยู่ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาฉายด้วยอัตราเร็วเดียวกันจะทำให้เห็นภาพในลักษณะเคลื่อนไหวเหมือนธรรมชาติ ฟิล์มภาพยนต์มีทั้งชนิดฟิล์มขาว-ดำ และชนิดฟิล์มสี และมีฟิล์มชนิดไม่มีเสียง (Silen Film) และฟิล์มมีแถบเสียง ฟิล์มภาพยนต์มีหลายขนาด เช่น ขนาด 8 มม. ธรรมดา 8 มม. พิเศษ ฟิล์มขนาด 16 มม. ชนิดมีเสียงและไม่มีเสียง ฟิล์มขนาด 35 มม. และฟิล์มขนาด 70 มม. 2.1.5 วิดีทัศน์ (Video Tape) วิดีทัศน์เป็นสื่อโสตทัศน์ที่ให้ทั้งภาพและเสียง เช่นเดียวกับภาพยนต์ แต่อำนวยประโยชน์สะดวกสบาย และคล่องตัวในการใช้มากกว่า วิดีทัศน์ มี 2 ประเภท คือ
2.1.5.1 เทปวิดีทัศน์ (Video Tape) มีหลายขนาดดังนี้ ก. แบบตลับ (Videocassette) มีขนาด ? นิ้ว เรียกว่า ระบบยูเมติก (U-Matic) ขนาด ? นิ้ว นิยมใช้อย่างแพร่หลาย เรียกว่า ระบบวีเอชเอส (Video Home System หรือ VHS) และยังมีการพัฒนาให้มีคุณภาพสูงขึ้นทั้งการบันทึกและการเล่น เรียกว่า Super VHS หรือ S-VHS นอกจากนี้ยังมีเทปวิดีทัศน์ขนาดเล็ก คือ VHS-C และ 8 มม. ข. แบบม้วนเปิด (Video reel) มีขนาด 2 นิ้ว 1 นิ้ว และ ? นิ้ว เป็นเทปวิดีทัศน์ที่ใช้กับสถานีโทรทัศน์ภายหลังหันมาใช้ขนาด 1 นิ้วแทน เพราะเครื่องเล่นและม้วนเทปราคาแพง ค. แบบกล่อง (Video Cartridge) เป็นเทปขนาด 1 นิ้ว ไม่นิยมตามบ้าน แต่ใช้สำหรับการโฆษณา 2.1.5.2 แผ่นวิดีทัศน์ (Videodisc) แผ่นวิดีทัศน์ มีลักษณะคล้ายแผ่นเสียง แต่สามารถบันทึกข้อมูลได้ทั้งตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียง ด้วยสัญญาณดิจิตอล และอ่านสัญญาณข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์ มี 2 แบบ คือ ก. แผ่นวิดีทัศน์ชนิดใช้เข็มข. แผ่นวิดีทัศน์ระบบเลเซอร์ หรือ LV (Laser Vision)2.4 วัสดุคอมพิวเตอร์ ได้แก่ 2.4.1 จานแม่เหล็ก แบ่งได้ 2 ชนิด คือ 2.4.1.1 จานแม่เหล็กแบบอ่อน (Floppy Disc) มี 2 ขนาด คือ 5 นิ้ว และขนาด 3 นิ้ว 2.4.1.2 จานแม่เหล็กแบบแข็ง (Hard Disc) สามารถบรรจุข้อมูลได้มากกว่าชนิดบางหลายร้อยเท่า 2.4.2 ฐานข้อมูลที่พัฒนาขึ้นเอง (In-house Database) 2.4.3 ฐานข้อมูลสำเร็จรูป (Compact Disc-Read o­nly Memory : CD-ROM) มีลักษณะเหมือนแผ่น CD-Audio แต่ใช้บันทึกข้อมูลและสืบค้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซีดีรอม 1 แผ่น สามารถบันทึกข้อมูลได้เท่ากับ จำนวนจานแม่เหล็กแบบอ่อน 1,500 แผ่น หรือประมาณ 600 เมกกะไบต์ ซึ่งเท่ากับจำนวนกระดาษขนาด A4 ประมาณ 250,000 หน้า นอกจากนี้ยังสามารถบันทึกภาพทั้งสี และขาว-ดำ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ภาพกราฟิก เสียงพูด และเสียงดนตรี ผู้ผลิตซีดีรอมได้บรรจุความรู้ต่าง ๆ เช่น สารานุกรม พจนานุกรม ฐานข้อมูล DAO, ERIC, LISA เป็นต้น2.4.4 ฐานข้อมูลโทรคมนาคม (Telecommunication Database) เช่น Internet, Pulinet เป็นต้น (บุญถิ่น คิดไร. 2542 : 4-8 และ พวา พันธุ์เมฆา 2535 : 16-17)
8) แบ่งตามต้นกำเนิดของวรรณกรรม แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ 1. วรรณกรรมปฐมภูมิ (Primary Source) เป็นวรรณกรรมที่เกิดจากความคิด ความริเริ่ม การค้นพบ และ ประสบการณ์ของผู้ผลิตเองสำหรับนำไปใช้งานหรือเผยแพร่แก่สาธารณชน เช่น เอกสารจดหมายเหตุ วิทยานิพนธ์ รายงานการวิจัย และเอกสารส่วนบุคคล เป็นต้น 2. วรรณกรรมทุติยภูมิ (Secondary Source) เป็นวรรณกรรมที่เกิดจากการรวบรวม วิเคราะห์เลือกสรร ประมวล และเรียบเรียงข้อมูลมาจากวรรณกรรมปฐมภูมิ เช่น หนังสือตำราต่าง ๆ หนังสือพจนานุกรม และหนังสือสารานุกรม เป็นต้น 3. วรรณกรรมตติยภูมิ (Tertiary Source) เป็นวรรณกรรมที่เกิดจาก การรวบรวม วิเคราะห์ เลือกสรร ประมวล และเรียบเรียงข้อมูลจากวรรณกรรมทุติยภูมิเป็นหลัก เช่น เอกสารคำสอน รายงานของนักศึกษา และคู่มือศึกษากระบวนวิชาต่าง ๆ เป็นต้นจากทัศนะต่าง ๆ ที่มีผู้จำแนกประเภท ของวรรณกรรมนั้นจะทำให้ผู้ที่ศึกษาวรรณกรรม สามารถที่จะเข้าใจถึงรูปแบบต่าง ๆ ของวรรณกรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการแบ่งตามคุณค่าที่มุ่งให้กับผู้อ่าน และตามรูปแบบหรือวัสดุและสื่อของการเสนอวรรณกรรม จะช่วยให้ผู้ศึกษาวรรณกรรมสามารถศึกษารูปแบบวรรณกรรมในศาสตร์ต่าง ๆ เชิงวิจารณ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ความสำคัญและคุณค่าของวรรณกรรม วรรณกรรมมิใช่เป็นแต่เพียงสื่ออย่างเดียว หากสิ่งที่แฝงลึกลงไปในช่องไฟระหว่างตัวอักษร ยังสะท้อนให้เห็นถึงความตื้นลึกหนาบางทางภูมิปัญญาของผู้เขียน และลึกลงไปในภูมิปัญญานั้นก็คือความจริงใจที่ผู้เขียนสะท้อนต่อตัวเองและต่อผู้อ่าน (พิทยา ว่องกุล. 2540 : 1) วรรณกรรมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ชาติที่เจริญแล้วทุกชาติจะต้องมีวรรณกรรมเป็นของตัวเอง และวรรณกรรมจะมีมากหรือน้อย ดีหรือเลว ก็แล้วแต่ความเจริญงอกงามแห่งจิตใจของชนในชาตินั้น ๆ วรรณกรรมเป็นเครื่องชี้ให้รู้ว่า ชาติใดมีความเจริญทางวัฒนธรรมสูงแค่ไหนและยุคใดมีความเจริญสูงสุด ยุคใดมีความเสื่อมทรามลง เพราะฉะนั้นวรรณกรรมแต่ละชาติ จึงเป็นเครื่องชี้วัดได้ว่า ยุคใดจิตใจของประชาชนในชาติ มีความเจริญหรือเสื่อมอย่างไรด้วยเหตุนี้ วรรณกรรมจึงเป็นเครื่องมือสื่อสารความรู้สึกนึกคิดถ่ายทอดจิตนาการและแสดงออกซึ่งศิลปะอันประณีตงดงาม การศึกษาหรืออ่านวรรณกรรมแต่ละเรื่องทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ ของยุคสมัยที่ผู้ประพันธ์ได้สะท้อนผ่านมุมมองของตนออกมา รวมทั้งทำให้ผู้อ่านเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่มีต่อสภาพการณ์เหล่านั้นด้วยดังนั้นวรรณกรรมจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์แทบทุกด้านอาจกล่าวได้ว่า สังคมมนุษย์ที่เจริญมีอารยธรรม และเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวรรณกรรมทั้งสิ้น วรรณกรรมต่างมีบทบาท ความสำคัญ และอิทธิพลไม่มากก็น้อย ซึ่งคุณค่าเหล่านี้ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นไว้หลากหลาย ดังนี้เอร์มเชอร์ (Irmscher 1975 : 6-7 อ้างถึงในสิทธา พินิจภูวดล และนิตยา กาญจนะวรรณ. 2520 : 7-8) ได้กล่าวถึงอิทธิพลของวรรณกรรมที่มีต่อมนุษย์ดังนี้ 1. จากตัวละครที่ปรากฏในวรรณกรรม ได้เปิดเผยให้ผู้อ่านเห็นความคิดจิตใจของมนุษย์ด้วยกัน ทั้งที่เหมือนกับคนทั่ว ๆ ไป และทั้งที่แตกต่างและมีปฏิกริยาต่อคนอื่น 2. จากการสร้างพฤติการณ์และสถานการณ์ในวรรณกรรม ทำให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ว่า พฤติกรรมของคน ๆ หนึ่งย่อมเกี่ยวโยงไปถึงคนอื่น ๆ ด้วย บางครั้งพฤติกรรมของคนเพียงคนเดียว ก็มีพลังอำนาจผลักดันให้เกิดเหตุการณ์ที่เหลือวิสัยที่จะควบคุมได้ มีผลต่อตนเองและคนอื่น ๆ อีกหลายคน ซึ่งใคร ๆ ก็ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้นอกจากนี้ยังทำให้ผู้อ่านแลเห็นพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ต่อต้านและขัดแย้งตามมาด้วย 3. จากการสร้างฉากในวรรณกรรม โดยเฉพาะเมื่อผู้เขียนวาดภาพความเป็นไปในโลกซึ่งมีแต่ความกดดัน จะทำให้ผู้อ่านได้แลเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ของชีวิต ผู้เขียนจะเลือกคัดจัดประเภทของประสบการณ์มาแยกแยะพิจารณาในวรรณกรรมของเขาเพื่อให้ผู้อ่านมีโอกาสนำประสบการณ์ของตนเองมาเทียบเคียงร่วมพิจารณาด้วย 4. จากรูปแบบและโครงสร้างของวรรณกรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในสากลว่าเป็นศิลปะนั้น ผู้อ่านไม่ว่าจะอ่านวรรณกรรมในรูปนวนิยาย บทละคร หรือบทประพันธ์อื่น ๆ ก็จะพบลักษณะของวรรณกรรมนั้น ๆ ลักษณะเฉพาะเหล่านั้น จะปรุงแต่งความคิดของผู้อ่านและกระตุ้นเตือนให้เกิดความรู้สึกนึกคิดอย่างลึกซึ้ง เป็นความรู้สึกนึกคิดของผู้อ่านจากวรรณกรรมที่ผู้แต่งสร้างขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ และโครงสร้างต่าง ๆ กัน 5. จากภาษา สัญลักษณ์ และมโนภาพ ของวรรณกรรมได้สร้างความงามและความน่าเกลียดให้เกิดขึ้นเพื่อเทียบเคียงกัน วรรณกรรมจะกระตุ้นจินตนาการของผู้อ่านให้หวั่นไหวและมีการตอบสนองนักเขียนที่ใช้ภาษาได้กระจ่างชัดจะถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดในส่วนลึกของจิตใจมายังผู้อ่านได้อย่างยอดเยี่ยม ความงดงามของภาษาของกวีหรือนักเขียน จะเขย่าอารมณ์และความคิดของผู้อ่านให้ไหวสะเทือน ความหมายที่ลึกซึ้งของกวี ความผสมกลมกลืนของการใช้สัญญลักษณ์และการวาดมโนภาพล้วนแต่มีส่วนช่วยจรรโลงใจผู้อ่านได้เป็นอย่างดี 6. จากท่วงทำนองเขียนในวรรณกรรม ซึ่งทำให้ผู้อ่านรู้จักลักษณะเฉพาะของกวีหรือนักเขียน แต่ละคนนั้นจะทำให้ผู้อ่านเกิดความสนุกตื่นเต้นไปกับบุคลิกลักาณะของกวีหรือนักเขียนซึ่งไม่ซ้ำแบบกัน 7. จากความคิดในวรรณกรรม ผู้อ่านจะได้พบกระจกเงาใบมหึมาสะท้อนภาพประสบการณ์ ความฉลาดหลักแหลม และย่อโลกอันกว้างขวางมาวางไว้ตรงหน้า จะชี้ให้ผู้อ่านเห็นสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ และการพยายามค้นหาวิธีที่ดีที่สุดมาแก้ปัญหาเหล่านั้น ได้มีนักเขียนหลายคนที่ได้แสดงความคิดเห็น ทางด้านคุณค่าของวรรณกรรมไว้สอดคล้องกัน เช่น ผาสุก มุทรามธา (2517 : 43) กระแสร์ มาลยาภรณ์ (2522 : 23-27) สิทธา พินิจภูวดล , รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ และเสาวลักษณ์ อนันตศาสนต์ (2524 : 4-5) สนิท ตั้งกวี (2528 : 242 - 244) สุภา ฟักข้อง (2530 : 22) และวันเนาว์ ผูเด็น (2537 : 14) ซึ่งได้กล่าวถึงคุณค่าของวรรณกรรมไว้ดังนี้ 1. คุณค่าทางอารมณ์ หมายถึง แรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นจากผู้ประพันธ์แล้วถ่ายโยงมายังผู้อ่าน ซึ่งผู้อ่านจะตีความวรรณกรรมนั้น ๆ ออกมาซึ่งอาจจะตรงหรือคล้ายกับผู้ประพันธ์ก็ได้ เช่น อารมณ์โศก อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ เคียดแค้น เป็นต้น โดยวรรณกรรมจะเป็นเครื่องขัดเกลาอัธยาศัย และกล่อมเกลาอารมณ์ให้หายความหมักหมม คลายความกังวล และความหมกมุ่น หนุนจิตใจให้เกิดความผ่องแผ้วทำให้รู้สึกชื่นบาน และร่าเริงในชีวิต ทำให้หายจากความมีจิตใจที่คับแคบรู้ค่าความงามของธรรมชาติ ความมีระเบียบเรียบร้อย ความดี ความงาม และความจริงหรือสัจธรรม ที่แฝงอยู่กับความรื่นเริงบันเทิงใจ หรือการได้ร้องให้กับตัวเอกของเรื่องในหนังสือหรือหัวเราะกับคำพูดในหนังสือนั้นมีผลดีทางด้านอารมณ์ ดังที่เจตนา นาควัชระ (2529 : 82) กล่าวว่า เราจะต้องไม่ลืมว่า วรรณกรรมมิใช่การสั่งสอนโดยตรง มิใช่การการโฆษณาชวนเชื่อ การปลุกสำนักเชิงสังคม อาจจะทำได้ดีที่สุดด้วยวิธีการของศิลปะก็ได้ เพราะการเปลี่ยนใจของมนุษย์นั้น คงไม่มีวิธีใดดีกว่าจับใจเขาเสียก่อนด้วยสุนทรียอารมณ์ 2. คุณค่าทางปัญญา วรรณกรรมแทบทุกเรื่องผู้อ่านจะได้รับความคิด ความรู้เพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย มีผลให้สติปัญญาแตกฉานทั้งทางด้านวิทยาการ ความรู้รอบตัว ความรู้เท่าทันคน ความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละครในเรื่องให้ข้อคิดต่อผู้อ่านขยายทัศนคติให้กว้างขึ้น บางครั้งก็ทำให้ทัศนคติที่เคยผิดพลาดกลับกลายเป็นถูกต้อง เช่น เราเคยมีทัศนคติว่าคนยิวเป็นคนตระหนี่ เห็นแก่ตัว พาให้สังคมรังเกียจ ครั้นได้อ่านเรื่อง The Diary of a Young Girl แต่งโดย แอนน์ แฟร้งค์ (Anne Frank) (แปลเป็นภาษาไทย ชื่อ บันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์ โดยสังวรณ์ ไกรฤกษ์) หรือเรื่อง Child of the Holocaust แต่งโดย แจ็ค คูเปอร์ (Jack Kuper) (แปลเป็นภาษาไทย ชื่อ เสือกเกิดเป็นยิว โดยจำเนียร สิทธิดำรงค์) และเรื่อง Mon Ami Frederic แต่งโดย ฮันส์ ปีเตอร์ ไรช์เตอร์ (แปลเป็นภาษาไทยชื่อเฟรดคอริก เพื่อนรัก โดย งามพรรณ เวชชาชีวะ) เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ถ่ายทอดโดยเด็กชาวยิว เมื่ออ่านแล้วเกิดความรู้สึกสงสารคนยิวที่กำลังถูกตามฆ่า ต้องพยายามหาทางเอาชีวิตรอด เกิดความรักและสงสารคนยิวในฐานะเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทัศนคติเดิมที่มีต่อยิวก็เปลี่ยนแปลงไปหรือผู้อ่านได้อ่านวรรณกรรมเรื่องสามก๊กและราชาธิราช จะให้รู้จักกลยุทรในการสงคราม กลอุบายต่าง ๆ เล่ห์เหลี่ยม นิสัยใจคอของคน และความคิดอันปราดเปรื่องของตัวละครบางตัว พร้อมกันนี้วรรณกรรมแทบทุกเรื่องจะแทรกสัจธรรมที่ผู้อ่านสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทำให้จิตใจสูงขึ้น หรือนำมาใช้ประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เช่น คำโคลงโลกนิติ ของกรมพระยาเดชาดิศร หรือเพลงยาวถวายโอวาท และสัวสดิศึกษา ของสุนทรภู่ เป็นต้น ดังคำกล่าวของเจตนา นาควัชระ (2529 : 88) กล่าวว่า หน้าที่ทางสังคมของวรรณกรรม อาจจะมิใช่การแก้ปัญหาทางสังคมในเชิงปฏิบัติ หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ในระยะสั้น แต่เป็นหน้าที่ของการให้แสงสว่างทางปัญญา 3. คุณค่าทางศีลธรรม วรรณกรรมเรื่องหนึ่ง ๆ อาจจะมีคติหรือแง่คิดอย่างหนึ่งแทรกไว้ อาจจะเป็นเนื้อเรื่องหรือเป็นคติคำสอนระหว่างบรรทัด ซึ่งวรรณกรรมแต่ละเรื่องให้แง่คิดไม่เหมือนกัน บางที่ผู้อ่านที่อ่านอย่างผิวเผิน จะตำหนิตัวละครในเรื่องนั้นว่า กระทำผิดศีลธรรมไม่ส่งเสริมให้คนมีศีลธรรม แต่ถ้าพิจารณาและติดตามต่อไปผู้อ่านก็จะพบว่า ใครก็ตามที่ไม่อยู่ในศีลธรรมก็จะต้องประสบความทุกข์ยาก ความล้มเหลว และความเกลียดชังจากสังคม อาจจะเป็นเพราะกรรมของแต่ละคน บางคนประกอบกรรมมา ต่างกรรมต่างวาระแต่อาจจะพบจุดจบในกรรมอันเดียวกันก็ได้ เช่น เรื่องพระลอเป็นวรรณกรรมสะเทือนอารมณ์ ซึ่งได้แทรกข้อคิดเกี่ยวกับความรัก และความรับผิดชอบในหน้าที่ ให้ผู้อ่านได้พิจารณา ถ้าบังเอิญมีเหตุการณ์ในชีวิตเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันทั้งความรัก และความรับผิดชอบจะเลือกทางไหนพระลอได้เลือกความรักและประสบกับความยุ่งยากจนสิ้นชีวิต เป็นตัวอย่างที่ไม่ต้องการให้ใครเอาอย่าง ซึ่งตามหลักการของวรรณกรรมนั้นในเรื่องของศีลธรรม สิ่งที่ผู้อ่านต้องนำมาคิดก็คือ เป็นศีลธรรมของคนกลุ่มใด ของใคร และสมัยใด เพราะศีลธรรมก็ต่างกันตามวาระยุคและสมัยของแต่ละสังคมด้วย เช่นผู้อ่านอาจจะโทษว่า พระลอ พระเพื่อน พระแพง ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม ผู้อ่านก็ต้องพิจารณาหลาย ๆ ด้าน ทั้งในเรื่องของสังคม ค่านิยม บุคคล ฐานะ และทางแนวคิดและจุดประสงค์ของผู้แต่ง ว่าเพื่ออะไร ส่วนวรรณกรรมที่ให้คุณค่าทางศีลธรรมแก่ผู้อ่านที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ วรรณกรรมศาสนา ได้แก่ เรื่องชาดกต่าง ๆ เช่น เวสสันดรชาดก สุวรรณสามชาดก นอกจากนั้นก็มีนิทานนิยายต่าง ๆ เช่น นิทานอีสป นวนิยายที่มุ่งสอนศีลธรรม เช่น กองทัพธรรม ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ เป็นต้น หรือเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ของพระเจ้าลิไท พระปฐมสมโพธิกถา ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นต้น 4. คุณค่าทางวัฒนธรรม วรรณกรรมทำหน้าที่ผู้สืบต่อวัฒนธรรมของชาติจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เป็นสายใยเชื่อมโยงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ ในวรรณกรรมมักจะบ่งบอกคติของคนในชาติไว้ เช่น วรรณกรรมสมัยสุโขทัยจะทำให้เราทราบว่าคติของคนไทยสมัยสุโขทัยนิยมการทำบุญให้ทาน การสาปแช่งคนบาปคนผิด มักจะสาปแช่งมิให้พระสงฆ์รับบิณฑบาตรจากบุคคลผู้นั้น ดังนี้เป็นต้น วรรณกรรมของชาติมักจะเล่าถึงประเพณีนิยม คติชีวิต การใช้ถ้อยคำภาษา การดำรงชีวิตประจำวัน การแก้ปัญหาสังคม อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า เป็นต้น เพื่อให้คนรุ่นหลังมีความรู้เกี่ยวกับคนรุ่นก่อนๆและเข้าใจวิถีชีวิตของคนรุ่นก่อน เข้าใจเหตุผลว่าทำไมคนรุ่นก่อนๆจึงคิดเช่นนั้น ทำเช่นนั้น ก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน ดังเช่น วรรณกรรมเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ช่วยให้ผู้อ่านได้ทราบถึงพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีโสกันต์ เป็นต้น หรือ เรื่องขุนช้างขุนแผน ทำให้ผู้อ่านเข้าใจประเพณีการเกิด การโกนจุก การบวช การแต่งงาน การเผาศพ เป็นต้น อย่างไรก็ตามคุณค่าทางวัฒนธรรมนี้เป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละสังคม ถ้าสามารถสร้างให้เกิดความรู้สึกที่เป็นสากล คือมีอุดมคติเป็นกลาง สามารถเป็นที่ยึดถือของทุกสังคม ก็นับเป็นคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ถือเป็นความสามารถอย่างยิ่ง และที่สำคัญวัฒนธรรมอยู่ได้ส่วนหนึ่งก็เพราะมีวรรณกรรมบันทึกไว้เป็นหลักฐาน กล่าวอีกนัยหนึ่ง จะโดยรู้สึกตนหรือไม่ก็ตาม นักประพันธ์ย่อมจะแต่งเรื่องที่กล่าวถึงวัฒนธรรมของตน ( และอาจจะของผู้อื่นด้วย ) และในบางครั้งบางคราว เมื่อแปลหรือเรียบเรียงหรือเอาเค้าเดิมมาจากวรรณกรรมต่างประเทศ ก็จะกล่าวถึงวัฒนธรรมของต่างประเทศเท่าที่ตนรู้และเข้าใจด้วย ผู้อ่านก็จะเกิดความรื่นรมย์และชื่นชมหรือแปลกประหลาดไปกับวัฒนธรรมนั้น ๆ ด้วย 5. คุณค่าทางประวัติศาสตร์ การบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่มุ่งจดแต่ข้อเท็จจริงไม่ช้าก็อาจจะเบื่อหน่ายหลงลืมได้ เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราช ในประวัติศาสตร์อาจจะจดบันทึกไว้เพียงไม่กี่บรรทัด ผู้อ่านก็อาจจะอ่านข้าม ๆไปโดยไม่ทันสังเกตและจดจำ ถ้าได้อ่านลิลิตตะเลงพ่ายจะจำเรื่องยุทธหัตถีได้ดีขึ้นและยังเห็นความสำคัญของเหตุการณ์บ้านเมืองในตอนนั้นอีกด้วย ทั้งนี้เพราะผู้อ่านได้รับรสแห่งความสุขบันนเทิงใจในขณะที่อ่านลิลิตตะเลงพ่าย หรือวรรณกรรมประวัติศาสตร์อื่น ๆ ที่นำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาใช้เป็นวัตถุดิบในการแต่งด้วย อย่างไรก็ตามวรรณกรรมดังกล่าวมิใช้เอกสารวิชาการสำหรับอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ ตรงข้ามประวัติศาสตร์ต่างหากที่เป็นเอกสารอ้างอิงของวรรณกรรม ดังนั้น การใช้วรรณกรรมเป็นเอกสารอ้างอิงทางประวัติประวัติศาสตร์จึงอาจาคลาดเคลื่อนได้ อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมถือเป็นกระจกเงาสะท้อนภาพในอดีตของแต่ละชาติได้อย่างดีที่สุด เรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์หลายเรื่อง ศึกษาได้จากวรรณกรรมไม่มากก็น้อย เช่น สงครามทาสระหว่างอเมริกาเหนือ และใต้ สามารถอ่านได้จากเรื่อง Gone With the Wind แต่งโดยมากาเร็ท มิทเชล (Margaret Mittchell) ( แปลเป็นภาษาไทย ชื่อวิมานลอย โดย รอย โรจนานนท์ ) หรือ เรื่อง Uncle Tom ' s Cabin แต่งโดย แฮเรียท บีชอร์ สโตร์ ( Harriet Beecher Stowe ) (แปลเป็นภาษาไทยชื่อ กระท่อมน้อยของลุงทอม โดย อ. สนิทวงศ์) หรือ การบุกเบิกและสร้างชาติของอเมริกาจากเรื่องหนังสือชุด Little House Series แต่งโดย ลอรา อิงกัลล์ส์ ไวล์เดอร์ (แปลเป็นภาษาไทย เป็นหนังสือชุดบ้านเล็ก โดย สุคนธรส มี 7 เล่ม หรือ 8 ตอน ด้วยกัน คือ บ้านเล็กในป่าใหญ่ และบ้านเล็กในทุ่งกว้าง พิมพ์รวมเป็นเล่มเดียวกัน เด็กชายชาวนา บ้านเล็กริมห้วย ริมทะเลสาบสีเงิน ฤดูหนาวอันแสนนาน เมืองเล็กในทุ่งกว้าง และปีทองอันแสนสุข) หรือ เรื่อง เรื่องสี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว. ศึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ใช้เหตุการณ์ของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงมาจนถึงสิ้นแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล พร้อมกันนี้ผู้เขียนยังให้ภาพที่ผู้อ่านเข้าใจถึง เรื่องราวของพระบรมมหาราชวังเริ่มตั้งแต่ประตูชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นใน ตำหนักเจ้านาย ที่อยู่ของข้าหลวง จนกระทั้งถึงพระราชมณเฑียร ชีวิตของชาววังนับตั้งแต่พระบรมวงศ์ถึงคนสามัญ การแต่งกาย ความเป็นอยู่ ธรรมเนียม การศึกษาอบรม ความสนุกสนาน และการละเล่น นอกจากนั้นได้กล่าวถึงชีวิตชนชั้นสูงนอกราชสำนักด้วย คือ พระยา คุณหลวง และเศรษฐี 6. คุณค่าทางจิตนาการ เป็นการสร้างความรู้สึกนึกคิดที่ลึกซึ้ง จิตนาการต่างกับอารมณ์ เพราะอารมณ์คือ ความรู้สึก ส่วนจิตนาการ คือ ความคิด เป็นการลับสมอง ทำให้เกิดความคิดริเริ่ม ประดิษฐกรรมใหม่ ขึ้นมาก็ได้ จิตนาการจะทำให้ผู้อ่านเป็นผู้มองเห็นการณ์ไกล จะทำสิ่งใดก็ได้ทำด้วยความรอบคอบ โอกาสจะผิดพลาดมีน้อย นอกจากนั้นจิตนาการเป็นความคิด ฝันไปไกลจากสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้น อาจจะเป็นความคิดถึงสิ่งที่ล่วงเลยมานานแล้วในอดีต หรือสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยหวังว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตก็ได้ เช่น วรรณกรรมพระอภัยมณี สุนทรภู่ผู้แต่งนั้นเป็นกวีที่มีจิตนาการกว้างไกลมาก ได้ใฝ่ฝันเห็นภาพการนำฟางมาผูกเป็นเรือสำเภาใช้ในการเดินทางในมหาสมุทรบนยอดคลื่น เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันนี้เรือที่ทำด้วยวัสดุน้ำหนักเบาอย่างฟางได้เกิดมีจริงขึ้นแล้วรวมทั้งเรือเร็วที่แล่นได้บนยอดคลื่นหรือบนผิวน้ำด้วย 7. คุณค่าทางทักษะเชิงวิจารณ์ การอ่านมากเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความคิด และประสบการณ์ให้แก่ชีวิต คนที่มีความรู้แคบมีความคิดตื้น ๆ และประสบการในชีวิตเพียงเล็กน้อย มักจะถูกเรียกว่า คนโง่ ส่วนคนที่มีความรู้มากแต่ไม่รู้จักวิเคราะห์วิจารณ์นั้นอาจจะหลงผิดทำผิดได้ วรรณกรรมเป็นสิ่งยั่วยุให้ผู้อ่านใช้ความคิดนึกตรึกตรองตัดสินสิ่งใดดีหรือไม่ดี เช่น พฤติกรรมของอิเหนาซึ่งเป็นนักรบที่เก่งแต่เจ้าชู้มีมเหสีถึง 10 องค์ นั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี มีเหตุผลอะไรบ้างสนับสนุนความคิด หรือเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งผู้อ่านมีความเชื่อว่าขุนช้างเลวจริงหรือไม่ สมัยนี้อาจต้องถามตัวเองว่าขุนช้างเลวนั้นเลวอย่างไร และอาจเริ่มเห็นใจขุนช้างจนต้องอ่านใหม่อีกครั้ง คือ เริ่มคิดวิจารณ์แล้ว เป็นการฝึกฝนการใช้วิจารณญาณที่ก่อให้เกิดทักษะ หรือความชำนาญในเชิงวิจารณ์ วิจารณญาณเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ อย่างน้อยผู้อ่านเมื่ออ่านหนังสือแล้ว อาจจะพูดถึง ตัวละคร ชีวิต พฤติกรรม เหตุการณ์ เป็นต้น ของเรื่องนั้น ๆ ตามความคิดเห็นของตนเอง 8. คุณค่าทางการใช้ภาษา เพราะการเขียนเป็นการถ่ายทอดความคิด เป็นการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร เพื่อรสชาติทางภาษา เพื่อจูงใจเพื่อความติดใจและประทับใจ ทำให้ผู้อ่านสามารถสังเกต จดจำนำไปใช้ก่อให้เกิดการใช้ภาษาที่ดี เพราะการเห็นแบบอย่างทั้งที่ดี และบกพร่องทั้งการใช้คำ การใช้ประโยค การใช้โวหาร เป็นต้น ได้แก่ การใช้โวหารของยาขอบในวรรณกรรมเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ เช่น"ข้าพเจ้ารักตัวเองยิ่งนัก แต่ข้าพเจ้ารักตะละแม่ยิ่งกว่าตัวเอง แต่ทั้งตัวเองและตะละแม่ ข้าพเจ้าก็หาได้รักเท่าตองอูไม่" 9. คุณค่าที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการสร้างวรรณกรรม และศิลปกรรมด้านต่าง ๆ วรรณกรรมที่ผู้เขียนเผยแพร่ออกไปบ่อยครั้งที่สร้างความประทับใจ และแรงบันดาลใจ ให้เกิดผลงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ทางด้านวรรณกรรม ของอกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น "ราชินีแห่งฆาตกรรม" ได้ผลิตงานประเภทสืบสวนเป็นร้อย ๆ เรื่อง โดยใช้ แอร์คูล์ บัวโรต์ เป็นนักสืบที่มีคนรู้จักกันทั่วโลก และในเรื่องสุดท้ายที่แอร์คูล บัวโรต์ เสียชีวิตในเรื่อง Cirtain ในปี ค.ศ. 1575 หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ ของอเมริกาได้ลงข่าวไว้อาลัยในหน้าหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมี และจนบัดนี้ก็ยังไม่มีตัวละครในนวนิยายอื่นใดที่ได้รับการเชิดชูเกียรติถึงระดับเช่นนี้ อกาธา คริสตี้ ได้สร้างผลงานต่าง ๆ อันเกิดจากได้รับความประทับใจจากเรื่องนักสืบชุดเชอร์ล็อค โฮล์มส์ (Sherlock Holmes) ซึ่งเป็นผลงานของ เซอร์อาร์เธอร์ โคนัน คอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle) และปัจจุบันเชอร์ล็อค โฮล์มส์ ก็ยังคงเป็นตัวละครที่มีผู้รู้จักกันทั่วโลก มากกว่าตัวละครใด ๆ เท่าที่เคยเขียนขึ้นมา ทั้งยังเป็นตัวละครที่ถูกนักเขียนคนอื่น ๆ เขียนลอกเลียนแบบมากที่สุดในโลกด้วย หรือภาพวาดของจักรพันธุ์ โปษยกฤต ส่วนมากจะได้แรงบันดาลใจจากวรรณคดีไทย เช่น เรื่องขุนช้าง - ขุนแผน เป็นต้น หรือผลงานเพลงด้านคำร้องของแก้ว อัจฉริยะกุล เช่น พรานล่อเนื้อ ยูวกระสันต์เมฆ ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวีของศรีปราชญ์ หรือเพลงรักเพียงใจ ของชอุ่ม บัญจพรรด์ ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวีของศรีปราชญ์เช่นกัน อุดม หนูทอง (2523 : 57) กล่าวเสริมว่า วรรณกรรม (โดยเฉพาะวรรณคดี) เป็นหนังสือที่ได้ชื่อว่าบรรจุไว้ด้วยถ้อยคำภาษาที่ประณีตที่สุด ตรึงใจและแหลมคมที่สุด อาจใช้ภาษาที่เป็นภาษาชนิดพิเศษ คำพ้นสมัย สร้างศัพท์ใหม่ แผลงคำเอาตามใจชอบของนักประพันธ์หรือกวี ใช้คำศัพท์ท้องถิ่นหรือพื้นเมือง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นการเพิ่มพูนความรู้ทางภาษาให้แก่ผู้อ่านทั้งสิ้น โดยเฉพาะทางด้านคำศัพท์แล้ว นับว่ามีคุณค่าเอนกอนันต์ ตัวอย่างจากเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย เพียงเรื่องเดียวหากศึกษาถ้อยคำภาษาโดยละเอียดถ่องแท้ก็ทำให้เกิดความแตกฉานในเรื่องภาษาขึ้นได้มาก ความรู้ทางภาษาที่ได้จากการอ่านวรรณกรรม โดยเฉพาะวรรณคดี จะส่งผลต่อการศึกษาวรรณคดีในระดับที่สูงหรือยากยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทั้งนี้เพราะภาษาในวรรณคดีมีหลายระดับ กาพย์กลอนของสุนทรภู่เป็นระดับหนึ่ง นิราศนรินทร์ระดับหนึ่ง ตะเลงพ่ายระดับหนึ่ง และยวนพ่ายก็เป็นอีกระดับหนึ่ง ความรู้ทางภาษาจากวรรณคดีที่ใช้ภาษาอย่างง่าย ๆ ย่อมเป็นปัจจัยที่สร้างภูมิปัญยาให้อ่านหนังสือที่หนัก ๆ ขึ้นได้เรื่อยไปโดยไม่มีขอบเขต ส่วน ธวัช บุณโณทก (2527 : 10 - 11) ได้กล่าวถึงคุณค่าของวรรณกรรม โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ ๆ ดังนี้ 1. คุณค่าของวรรณกรรมต่อปัจเจกบุคคล คือวรรณกรรมให้สารประโยชน์ต่อบุคคลอันเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม 1.1 ส่งเสริมการเรียนรู้และฝึกทักษะ 1.1.1 ส่งเสริมปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน และฝึกทักษะในการอ่าน 1.1.2 ส่งเสริมในการเรียนรู้ทางด้านภาษา และช่วยให้มีโอกาสฝึกทักษะ 1.1.3 ส่งเสริมให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ 1.2 ให้ความบันเทิงใจ 1.2.1 เพลิดเพลิน สนุกสนานไปตามเนื้อเรื่อง 1.2.2 สะเทือนใจ สะเทือนอารมณ์ ทั้งอารมณ์รัก โกรธ แค้น สงสาร และสมใจ เป็นต้น 1.2.3 ฝันไปกับท้องเรื่อง 1.3 ประเทืองปัญญา 1.3.1 ชี้ให้เห็นสภาพของชีวิตมนุษย์ในสังคม 1.3.2 ให้ประสบการณ์จำลองชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ ชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข ยากแค้น อับเฉา ถูกกดขี่ จองเวร อาภัพอับโชค เป็นต้น 1.3.3 ให้มโนทัศน์ (Conception) ต่าง ๆ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคม 2. คุณค่าวรรณกรรมต่อการสร้างสรรค์สังคม วรรณกรรมมีส่วนให้ความสำนึกของสังคม หรือมโนทัศน์ร่วมของสังคม โดยวิธีเสนอแนวคิดต่อผู้อ่านโดยส่วนรวม เป็นการปลูกฝังทัศนคติต่อสังคมแก่ผู้อ่าน และมีกลวิธีในการนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นพ้องกับแนวคิดที่ผู้ประพันธ์เสนอมาในรูปวรรณกรรม หรือให้ผู้อ่านเลือกรูปแบบของสังคมตามทัศนะของตนเองรวมมากับการบันเทิงใจในวรรณกรรมด้วย ซึ่งเป็นตัวเร่งเร้า ส่งเสริมให้ผู้อ่านอันเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมยอมรับแนวคิดเหล่านั้น และมีมโนทัศน์ร่วมต่อสังคม คือ 2.1 กฎเกณฑ์ต่อสังคม อันได้แก่ ศีลธรรม กรอบจารีตประเพณี และธรรมนิยมต่าง ๆ 2.2 มีความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมนั้น 2.3 มโนทัศน์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม วรรณกรรมได้เสนอแนวคิดร่วมของการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมโดยไม่หยุดนิ่ง เพื่อไปสู่สภาพของสังคมมนุษย์ที่ดีกว่า 2.4 เสนอแนวคิดร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สภาพที่ดีกว่า และชะลอการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่สภาพชีวิตเลวลง หรือชะลอการเปลี่ยนแปลงที่คนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งพยายามผลักดันจะให้เป็นไปแต่ไม่ใช่มโนทัศน์ร่วมของสังคม 2.5 เสนอแนะ เร่งเร้ามโนคติของปัจเจกบุคลลให้พยายามปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงพัฒนาทางด้านสังคมอันไม่เคยหยุดนิ่ง ดังนั้นวรรณกรรมจึงเป็นมรดกของสังคม เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่แสดงเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ และเป็นเครื่องบ่งชี้ความเป็นอารยะชองชนในชาติ ดังคำกล่าวที่ว่า "วรรณคดีเป็นอารธรรมชนิดที่ไม่รู้จักสูญหาย" ดังเช่น วรรณคดีกรีก วรรณคดีโรมัน ปัจจุบันนี้ยังคงมีอยู่ แม้ว่าอาณาจักรเหล่านี้จะพินาศไปแล้วก็ตาม ดังที่ ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ (2503 : 464) กล่าวว่า ชาติใดมีวรรณคดี โบราณวัตถุ โบราณคดีและอักษรศาสตร์เป็นของตัวเอง แสดงให้รู้ว่าชาตินั้นเป็นชาติอารยะไม่ใช่ชาติใหม่
อิทธิพลและผลกระทบของวรรณกรรมต่อสังคม เนื่องจากบทบาทของวรรณกรรมที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือผลกระทบทางด้านสังคม มีนักคิดนักเขียนทางด้านวรรณกรรมส่วนใหญ่ได้เน้นผลกระทบทางด้านนี้มาก เพราะถือว่าวรรณกรรมที่ดีจะต้องส่งผลต่อสังคมไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้จึงขอกล่าวถึงเฉพาะผลกระทบหรืออิทธิพลทางด้านสังคม ซึ่งมีผู้แสดงความคิดเห็นไว้หลากหลายดังนี้คือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้เขียนไว้ในคำนำหนังสือเรื่องนักเขียนหนุ่ม ( อ้างถึงใน Spender 2518 : หน้าคำนำ ) ว่า ความเป็นจริงในวรรณกรรมโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นของต่างชาติหรือของไทยเองก็ตาม ปรากฏการณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ วรรณกรรมเป็นกระจกเงาที่สะท้อนภาพทางสังคมและเป็นดัชนีชี้แนวของกระบวนการทางวัฒนธรรม ตลอดจนเสนอให้เห็นการยึดถือคุณค่าต่างๆของคนในสังคมแต่ละยุคสมัย ความเป็นไปทางการเมือง ความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาให้เราได้จากคนอ่านและคนเขียน และถ้าหากจะมีความจริงที่นอกเหนือไปจากนี้อีกประการหนึ่งก็ คือ วรรณกรรมเป็นสัญลักษณ์ที่บอกให้เราเห็นความจริงจังของคนในชาติ หรือความฟุ้งเฟ้อของกลุ่มคนในสังคม ซึ่งทั้งนี้ย่อมแล้วแต่ว่ากลุ่มสังคมใดจะใช้กระจกเงาบานไหนออกมาฉาย ดังนั้นท่าทีและแนวโน้มของวรรณกรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็นของไทยหรือต่างชาติ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนย่อมมีอิทธิพลเกี่ยวข้องกัน และย่อมขึ้นอยู่ว่าบรรดาผู้มีส่วนสร้างสรรค์ผลงานทางวรรณกรรมทั้งหลาย ( ณ ที่นี้หมายถึงงานเขียนทั่วไปทั้ง ร้อยแก้วและร้อยกรอง โดยเน้นเฉพาะ นวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และบทละคร ) จะพยายามเพียงใดที่จะยกวรรณกรรมขึ้นไว้เป็นสื่อของการรับใช้สังคม หรือเหยียบย่ำสังคมให้ต่ำทรามลง เจตนา นาควัชระ ( 2521 : 13 - 17 ) ได้เสนอว่า วรรณกรรมเป็นสิ่งผูกพันกับสังคม และเป็นสมบัติร่วมของทุกยุคทุกสมัยทุกถิ่น การศึกษาวรรณกรรมจึงต้องควบคู่กับสังคม ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของวรรณกรรม ผู้ประพันธ์ได้แสดงความคิด ปรัชญา ตลอดจนความจริงในสังคมด้วยความสนใจและความรับผิดชอบ วรรณกรรมจึงมีอิทธิพลต่อสังคม รวมทั้งพลังในสังคมมนุษย์ด้วย ส่วนเสนีย์ เสาวพงศ์ ( อ้างถึงใน รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน ม.ป.ป. : 15 - 16 ) ได้เสนอข้อคิดเกี่ยวกับวรรณกรรมกับสังคมว่า เบื้องหลังปากกาที่สร้างงานเขียนหรือวรรณกรรม ก็คือผู้เขียนหรือนักประพันธ์ และเบื้องหลังนักประพันธ์ก็คือสังคม นั่นก็คือความเป็นจริงของวรรณกรรมทุกเล่มที่มีทัศนะของผู้เขียนสอดแทรกในงานของเขา พร้อมๆกับการถ่ายทอดประสบการณ์ของชีวิตของสังคมในงานเขียนของเขาแต่ละชิ้น ภาพของสังคมปรากฏในวรรณกรรมชิ้นนั้นๆ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เป็นการมองภาพชีวิตในแต่ละบรรทัดของวรรณกรรมเล่มนั้นๆ (between the lines ) ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของพระมหากุเทพ ใสกระจ่าง ( 2521 : 1 , 13 ) ที่กล่าวว่า วรรณกรรมเป็นผลผลิตทางปัญญา ที่เน้นคุณค่าของชีวิตที่ดีงาม วรรณกรรมของคนกลุ่มใดย่อมสะท้อนชีวิตและแนวความคิดของคนกลุ่มนั้น ดังคำกล่าวที่ว่า เบื้องหลังวรรณกรรมทุกเล่มคือมนุษย์ เบื้องหลังมนุษย์คือเผ่าพันธุ์ และเบื้องหลังเผ่าพันธุ์คือสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติและสังคมซึ่งมีอิทธิพลต่อวรรณกรรม ดังนั้นการศึกษาวรรณกรรมจึงมิใช่แต่เพียงการอ่านตำราอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่เป็นการศึกษาภาวการณ์ทางสังคมด้วย หรือแม้แต่ความคิดเห็นของพลศักดิ์ จิรไกรศิริ ( 2521 : 105 ) กล่าวว่าวรรณกรรมเป็นผลงานการสร้างสรรค์ทางความคิดของมนุษย์ในยุคหนึ่งยุคใด และความคิดของมนุษย์นั้นก็ถูกกำหนดโดยสภาพทางวัตถุในขณะนั้น สภาพทางวัตถุในที่นี้ก็คือระบบสังคมของมนุษย์นั่นเอง ทีปกร( 2521 : 35 ) กล่าวสนับสนุนว่าแหล่งกำเนิดอันแท้จริงของวัตถุดิบที่มนุษย์นำมาสร้างเป็นงานวรรณกรรมนั้น มาจากความจัดเจนในการต่อสู้ของมนุษย์ทั้งในทางตรงและทางอ้อม วรรณกรรมจึงไม่เพียงแต่เป็นผลิตผลที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสะท้อนถ่ายความจัดเจนที่ได้รับจากการต่อสู้ของชีวิตทั้งในทางธรรมชาติและทางสังคม หากยังเป็นการสร้างวัฒนธรรมเพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของกลุ่มความคิดที่ตนสังกัดอยู่ด้วย สิทธา พินิจภูวดล และนิตยา กาญจนะวรรณ ( 2520 : 48 -49 ) กล่าวเสริมว่า วรรณกรรมเป็นผลงานของมนุษย์ ดังนั้นจึงเป็นที่เก็บรวบรวมความคิด ความเป็นอยู่ และลักษณะสภาพต่างๆของมนุษย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไว้ด้วยกัน วรรณกรรมจึงกลายเป็นหนังสือที่สามารถสะท้อนสภาพสังคมได้ สังคมของผู้แต่งหนังสือมีธรรมชาติเช่นไรวรรณกรรมก็มีธรรมชาติเช่นนั้น สังคมนั้นเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการไปตามเหตุการณ์อย่างไร วรรณกรรมก็กล่าวถึงเหตุการณ์อย่างนั้น เช่น เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ มีผลทำให้มนุษย์ในแต่ละสังคมประพฤติปฏิบัติตนต่างๆกัน หรือบางครั้งก็ออกมาในรูปเดียวกัน บางครั้งก็ขัดแย้งกัน บางครั้งก็กลมกลืนกัน ผู้แต่งหนังสือที่ช่างสังเกตก็จะเลือกหาเหตุการณ์เรื่องราวจากความเป็นไปในสังคมมาผูกเป็นเรื่องขึ้น โดยตั้งจุดประสงค์ไว้ต่างๆกัน บางคนผูกเรื่องขึ้นเพื่อรายงานเหตุการณ์แต่เพียงอย่างเดียว บางคนก็ชี้ให้เห็นลักษณะที่ขัดแย้งต่างๆเพื่อเตือนสติคนในสังคม สำหรับ ตรีศิลป์ บุญขจร ( 2523 : 6 - 10 ) กล่าวว่า วรรณกรรมย่อมสัมพันธ์กับสังคม วรรณกรรม สะท้อนประสบการณ์ชีวิตในยุคสมัยไม่ว่าจะจงใจสะท้อนสังคมหรือไม่ก็ตาม นักวิจารณ์บางคนจึงกล่าวว่า วรรณกรรมเป็นคันฉ่องแห่งยุคสมัย เนื่องจากเป็นภาพถ่ายชีวิตของยุคสมัยนั่นเอง ความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับสังคมมี 3 ลักษณะดังนี้คือ 1. วรรณก7รรมเป็นภาพสะท้อนของสังคม ซึ่งการสะท้อนสังคมของวรรณกรรมมิใช่เป็นการสะท้อนอย่างบันทึกเหตุการณ์ทำนองเอกสารประวัติศาสตร์ แต่เป็นภาพสะท้อนประสบการณ์ของ ผู้เขียนและเหตุการณ์หนึ่งของสังคม วรรณกรรมจึงมีความเป็นจริงทางสังคมสอดแทรกอยู่ นักเขียนบางคนมีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นอย่างมาก เขาจะสะท้อนความปราถนาที่จะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น วรรณกรรมของเขาฉายให้เห็นสิ่งที่เรียกว่าอุดมการณ์ ซึ่งอาจจะเป็นอุดมการณ์ทางสังคมหรืออุดมการณ์ทางการเมืองก็ได้ 2. สังคมมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมหรือต่อนักเขียน ซึ่งนักเขียนอยู่ในสังคมย่อมได้รับอิทธิพลจากสังคมทั้งด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา ปรัชญาและการเมือง สภาพการณ์ของปัจจัยเหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งกำหนดโลกทัศน์และชีวทัศน์ของเขา การพิจารณาอิทธิพลของสังคมต่อนักเขียน ควรให้ความสนใจว่านักเขียนได้รับอิทธิพลจากสังคมมาอย่างไร และเขามีท่าทีสนองตอบต่ออิทธิพลเหล่านั้นอย่างไร 3. วรรณกรรมหรือนักเขียนมีอิทธิพลต่อสังคม นักเขียนที่ยิ่งใหญ่นอกจากมีความสามารถในการสร้างสรรค์วรรณกรรมให้มีชีวิต โน้มน้าวจิตใจผู้อ่านแล้ว ยังเป็นผู้มีทัศนะกว้างไกลกว่าคนธรรมดา สามารถเข้าใจโลกและมองสภาพความเป็นจริงได้ลึกกว่าคนทั่วไปมองเห็น ด้วยทัศนะที่กว้างไกลและลุ่มลึก ภาพที่เขาให้จึงเป็นจริงยิ่งกว่าความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้วรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่จึงเป็นอมตะ เพราะไม่เพียงแต่จะเสนอภาพปัจจุบันอย่างถึงแก่นของความเป็นจริงเท่านั้น แต่ยังคาดคะเนความเป็นไปในอนาคตได้อีกด้วย ดังนั้นอิทธิพลของวรรณกรรมต่อสังคม อาจเป็นได้ทั้งในด้านอิทธิพลภายนอก เช่น การ แต่งกาย หรือการกระทำตามอย่างวรรณกรรม เช่น หญิงไทยสมัยหนึ่งนิยมถักหางเปีย นุ่งกางเกงขาสั้นเหมือน " พจมาน " ในเรื่องบ้านทรายทอง หรือย้อมผมสีแดงเหมือน " จอย " ในเรื่องสลักจิต เป็นต้น และอิทธิพลทางความคิด การสร้างค่านิยม รวมทั้งความรู้สึกนึกคิด ดังเช่น หนังสือเรื่อง " The Social Contract " ของจัง จาคส์ รุสโซ ( Jean Jacques Rousseau ) พิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1762 เป็นหนังสือที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยให้แนวคิดเกี่ยวกับทฤษฏีทางรัฐศาสตร์ที่สำคัญ เรียกว่า " เจตนารมณ์ทั่วไป ( General Will ) " เน้นเรื่องเสรีภาพและสิทธิของมนุษยชาติ ก็คืออำนาจอธิปไตยนั่นเอง ซึ่งถือเป็นหลักการที่สำคัญยิ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย อิทธิพลของหนังสือเล่มนี้มีส่วนก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการเรียกร้องอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1776 และการปฏิวัติในฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 - 1792 และอิทธิพลของหนังสือเล่มนี้ก็ยังคงมีอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ดังจะเห็นได้จากแนวคิดเรื่องทฤษฏีสัญญาประชาคม ( Social Contract Theory ) ซึ่งมีนักวิชาการได้นำมาอ้างอิงอยู่เสมอ หลังจากนั้นก็มีวรรณกรรมอีกหลายเล่ม ได้อิทธิพลและสนับสนุนการปกครองตามแนวคิดของรุสโซ เช่น จอห์น สจ๊วต มิลล์ ( John Stuart Mill ) นักเศรษฐศาสตร์และนักคิดชาวอังกฤษ ได้เขียนหนังสือ เรื่อง o­n Liberty โดยเน้นว่ารัฐบาลที่ดีต้องให้เสรีภาพแก่ประชาชน หรือความคิดของ จอห์น ล้อค ( John Lock ) ในผลงานชื่อ Two Treatise of Government ก็มีอิทธิพลอย่างมากต่อนักปฏิวัติชาวอเมริกัน ดังจะเห็นจากคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา ดูเหมือนว่าจะลอกข้อความในหนังสือเล่มนี้มาทั้งหมด จะแตกต่างกันเพียงมีการเปลี่ยนแปลงคำศัพท์บางคำเท่านั้น ( พลศักดิ์ จิรไกศิริ 2522 : 148 - 149 )หนังสืออีกเล่มหนึ่งซึ่งมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์อย่างมาก มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม ไม่เพียงแต่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่มีอิทธิพลไปในหลายประเทศทั่วโลก นั่นก็คือ หนังสือเรื่อง Das Kapital ( Capital ) เขียนโดยคาร์ล มาร์กซ์ ( Karl Marx ) ซึ่งเป็นนักการเมืองและนักปรัชญาชาวเยอรมัน ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ในปลายศตวรรษที่ 19 เพื่อเผยแพร่ความคิด อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ ของมาร์กซ์ หรืออุดมการณ์มาร์กซิสต์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง วลาดิมิร์ เลนิน ( Vladimir Lenin ) อดีตผู้นำของรุสเซียได้นำอุดมการณ์ มาร์กซิสต์มาใช้ปกครองประเทศ ทั้งยังเป็นผู้นำในการเผยแพร่อุดมการณ์นี้ด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากการปฏิวัติบอลเชวิค ( Bolshevist Revolution ) ในรุสเซีย เมื่อ ค.ศ. 1917 และมีผลต่อการเมืองในประเทศจีนมาก ถ้าการปฏิวัติในรุสเซียไม่ประสบผลสำเร็จ การก่อกำเนิดของลัทธิมาร์กซ์ในประเทศจีนและประเทศต่างๆ คงล่าช้าไปกว่าความเป็นจริงอีกหลายปี หลังจากนั้นก็มี เจ. วี. สตาลิน ( J. V. Stalin ) และนิกิตา ครุสชอฟ ( Nikita Khrushchev ) เป็นผู้สานต่อ หรือแม้แต่ประธานาธิบดีซูการ์โน ( Sukarno )ของอินโดนีเซียได้นำอุดมการณ์มาร์กซิสต์มาผสมผสานกับนโยบายชาตินิยม ( Nationalism ) ตามหลักศาสนาอิสลาม เรียกอุดมการณ์นี้ว่า ปัญจศิลา ( PantjaSila ) จึงกล่าวได้ว่าแนวความคิดของมาร์กซ์มีอิทธิพลต่อแนวความคิดของคนเกือบทั้งโลก แม้ว่ามาร์กซ์ได้ถึงแก่กรรมไปนานแล้วก็ตาม แต่ความคิด และอุดมการณ์ของเขายังคงมีอยู่ พร้อมกับได้รับการนำมาตีความใหม่แตกต่างกันออกไปในแต่ละสังคมและแต่ละประเทศหรือแม้แต่หนังสือเรื่อง Animal Farm ของยอร์จ ออร์เวลล์ ( George Orwell ) ในราวต้นศตวรรษที่ 19 ได้เขียนขึ้นมาเพื่อล้อเลียนระบบการปกครองแบบเผด็จการภายใต้การนำของสตาลิน ผู้เป็นแรงสำคัญคนหนึ่งในการปฏิวัติของพวกบอลเชวิค ( Bolsheviks ) ในปี ค.ศ.1917 ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นว่าอุดมการณ์ที่ได้วางไว้อย่างสวยงามอาจถูกนำมาเป็นเครื่องมือกอบโกยผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มได้ จึงสะท้อนให้โลกได้รับรู้ว่า แม้ในรุสเซียเองก็ยังไม่มีความเสมอภาค ทั้งๆที่เป็นผู้นำในการเรียกร้องเรื่องความเสมอภาค อิทธิพลของหนังสือเล่มนี้จึงมีผลต่อการต่อต้านระบบเผด็จการมาก นับเป็นหนังสือขายดีเล่มหนึ่ง และได้มีผู้นำไปแปลเป็นภาษาต่างๆเผยแพร่ทั่วโลก ( นวลจันทร์ รัตตากร 2526 : 59 - 61 ) มีนักวิจารณ์หลายคนกล่าวว่า หนังสือเรื่องนี้เป็นหนังสือที่ดีและประสบผลสำเร็จมากกว่าหนังสือเล่มอื่นๆของ ยอร์จ ออร์เวลล์ ที่ได้เขียนขึ้น เป็นความคิดนอกแบบของบรรดาสัตว์ต่างๆในฟาร์มสัตว์ คิดโค่นผู้เป็นนาย ก่อการปฏิวัติขึ้น ขับไล่ผู้เป็นนายออกไป ดำเนินการปกครองและการงานภายในฟาร์มกันเอง การงานทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี ประสบผลสำเร็จ ผู้ตั้งตนเป็นเจ้าคือหมูผู้ซึ่งบรรดาสัตว์ทั้งปวงถือว่าเป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลม ฉลาดกว่าสัตว์อื่นๆ แต่สุดท้ายก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ( ภาษาไทยชื่อ ฟาร์มสัตว์ แปลโดย สายธาร ) หรือแม้แต่ผลงานหลายๆเล่มของวอลแตร์ ( Voltaire ) ซึ่งผลงานของเขามีส่วนต่อการปฏิวัติในฝรั่งเศส ได้ชื่อว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุโรปสมัยนั้น และเป็นนักประพันธ์ที่เขียนเรื่องได้ไพเราะ วอลแตร์ต้องเข้าคุกบาสตีลล์หลายครั้งและเคยถูกขับไล่ออกนอกประเทศเพราะข้อเขียนของเขา แต่ประชาชนในอังกฤษและต่างประเทศยกย่องเทิดทูนวอลแตร์ เห็นว่าผลงานของเขาถูกต้อง ในที่สุดชาวฝรั่งเศสก็รับเขากลับประเทศ และจัดงานฉลองต้อนรับวอลแตร์ที่ประตูชัยฝรั่งเศสอย่างมโหฬาร วอลแตร์เขียนนวนิยาย บทละคร และโคลงกลอนต่างๆมากกว่า 50 เรื่อง แต่เรื่องที่ได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมที่สุดคือเรื่อง ก็องดิดด์ ( Candide ) ( แปลเป็นภาษาไทยโดย วัลยา วิวัฒน์ศร ) เป็นนวนิยายอมตะที่นักภาษาศาสตร์ของฝรั่งเศสยกย่องว่าเป็น " นวนิยายตัวอย่าง " ที่เขียนอย่างง่ายๆ สละสลวยดีเยี่ยมและเป็นวรรณกรรมที่มีค่าคู่โลกมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ก็องดิดด์ มีความหมายว่าเชื่อง่าย ซื่อ บริสุทธิ์ จริงใจ เปิดเผย อ่อนต่อโลก วอลแตร์เล่าเรื่องให้ก็องดิดด์เป็นพระเอก ชะตากรรมของพระเอกผู้นี้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ตลอดเรื่องอ่านสนุก เต็มไปด้วยปรัชญาชวนคิด การเสียดสี อารมณ์ขันลึกๆไปจนกระทั่งความเจ็บปวดรวดร้าวของความเป็นมนุษย์ จากบันทึกของผู้แปล ( วัลยา วิวัฒน์ศร อ้างถึงใน วอล์แตร์ 2542 : คำนำ ) ได้กล่าวว่า ปรัชญานิยายเรื่อง ก็องดิดด์นี้ วอล์แตร์ เขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1758 เพื่อตอบคำถามเรื่องความเป็นไปในโลกนี้ เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญทั้งภัยพิบัติจากธรรมชาติและ จากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกัน เขาควรจะไว้วางใจในความเชื่อที่มีอยู่ ความเชื่อถือในสถาบันต่างๆที่เป็น องค์ประกอบหลักของสังคมของเขาต่อไปหรือไม่ เขาควรจะเชื่อมั่นในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ และหวังจะรังสรรค์ผืนแผ่นดินและสังคมขึ้นใหม่หรือไม่ วอล์แตร์จึงเสนอปัญหาด้วยวิธีการเสียดสีแบบชวนขัน ตีแผ่สังคมฝรั่งเศสและชาติต่างๆในยุโรปตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงสมัยที่วอล์แตร์มีชีวิตอยู่ หรือเรื่องอื่นๆของวอล์แตร์ เช่น เรื่อง Letters Philosphiques ซึ่งถือเป็นหนังสือปรัชญาเล่มสำคัญที่สุดเล่มหนึ่ง และเรื่อง Letters o­n the English เป็นหนังสือที่นักการเมืองและนักปฏิวัติยังอ่านกันอยู่จนถึงปัจจุบันหรือแม้แต่การเรียกร้องอิสรภาพหรือเอกราชของอินเดียจากอังกฤษ โดยมีบุคคลสำคัญผู้หนึ่งในการเรียกร้องคือ คานธี ซึ่งได้สร้างแนวทางในการเรียกร้องใหม่เรียกว่า " สัตยาเคราะห์ " หรือ Truth Force ( พลังแห่งสัจจะ ) นั่นก็คือเน้นเรื่องสัจจะกับเรื่องอหิงสา หรือความไม่รุนแรง โดยคานธี ได้รับอิทธิพลมาจากหนังสือหลายเล่ม ดังต่อไปนี้คือ เล่มแรกคือเรื่อง ภควัทคีตา เป็นคัมภีร์เก่าแก่ของศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบทภารตยุทธ อันเป็นสงครามระหว่าง พวกปานฑพ กับพวกเการพ อรชุน ซึ่งเป็นพวกปานฑพหรือฝ่ายคนดี ต้องต่อสู้กับญาติพี่น้องของตนเองซึ่งอยู่ฝ่ายอธรรม อรชุนลังเลที่จะรบด้วยการยิงธนูไปสังหารญาติพี่น้องของตนเองที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้าม พระกฤษณะซึ่งเป็นสารถีให้กับอรชุน จึงอธิบายสัจธรรมให้อรชุนเข้าใจ เรื่องต่อมาคือ The Kingdom of God is Within You ( อาณาจักรของพระเป็นเจ้าอยู่ในตัวท่าน ) ของตอลสตรอย ซึ่งเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1893 คานธี ได้กล่าวว่า การอ่านหนังสือเล่มนี้ได้รักษาข้าพเจ้าจากความสงสัยทั้งมวล และทำให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ศรัทธาในอหิงสาที่แท้จริง เล่มต่อมาคือ บทกวีของ Shelly โดยเฉพาะบทกวีชื่อ The Mask of Anarchy ( หน้ากากอนาธิปไตย ) ซึ่งได้เขียนว่า " ด้วยการประสานแขนทั้งสอง และด้วยสายตาอันมุ่งมั่น ด้วยความกลัวเพียงเล็กน้อย และประหลาดใจเพียงบางเบา จงจ้องดูพวกเขาในขณะที่พวกเขาสังหาร จนกว่าความเกรี้ยวโกรธของคนเหล่านั้นจะเหือดหายสิ้น " สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีผู้เขียนจดหมายมาถามคานธีว่า จะทำอย่างไรกับศัตรูแบบฮิตเลอร์ คานธีตอบว่า " เราก็จะต้องมากอดอกยืนดู แล้วถ้าเขาจะใช้ปืนใหญ่ถล่มก็ปล่อยให้เขายิง จนกว่าเราจะเรียกร้องหรือจะดึงเอาความสงสารเห็นใจจากฝ่ายนั้น ออกมาได้ " ซึ่งจะเห็นได้ว่าคำพูดเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากบทกวีของ Shelly นั่นเอง หนังสืออีกเล่มก็คือ Unto This Last ของ John Ruskin เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1826 ประกอบด้วยบทความยาว 4 บทความรวมกัน จุดมุ่งหมายของหนังสือเล่มนี้เป็นการหาคำนิยามในเชิงตรรก ของคำว่า ความมั่งคั่ง ( Wealth ) ซึ่งตามความหมายที่แท้จริงมิได้หมายถึงอำนาจในทางทุนหรือทุนนิยม ที่จะบังคับคนให้ทำงานให้แก่ตนได้ หากหมายถึงชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข ประเทศที่ร่ำรวยมั่งคั่งคือประเทศซึ่งคนในประเทศมีความสุขมากที่สุดนั่นเอง Ruskin ได้โจมตีระบบเศรษฐกิจแบบปัจเจกชนนิยม ซึ่งเป็นระบบธุรกิจที่เน้นการแข่งขันในทุกๆวิถีทาง และได้เรียกร้องว่ามนุษย์มิใช่เครื่องจักร และเสนอแนะว่าสวัสดิการของรัฐและสังคมนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็จำเป็นต้องมีระบบเศรษฐกิจ ซึ่งได้ดุลยภาพและนำมาปฏิบัติจริงได้ และมีรากฐานอยู่บนศีลธรรมผสมกับปรัชญาชนิดที่ประสานร่วมมือกัน และเล่มสุดท้ายเป็นงานเขียนของ Henry David Thorean ได้เขียนบทความชื่อ o­n Civil Disobedience ( ว่าด้วยการดื้อแพ่ง ) ราว ค.ศ. 1849 ซึ่งคานธีได้นำมาใช้ว่า Civil Resistance ( การต่อต้านของพลเมือง ) ( ชัยวัฒน์ สถานันท์ 2528 : 30 - 33 ) โรเบิร์ต บี ดาวน์ส ( Downs 1978 ) ได้กล่าวถึงหนังสือที่มีอิทธิพลต่อสังคมและเปลี่ยนแปลงโลกไว้ในหนังสือ Books that Changed the World ซึ่งนอกจากหนังสือเรื่อง Das Kapital ของ คาร์ล มาร์กซ์ ดังที่ได้กล่าวแล้ว ยังมีหนังสือที่สำคัญอีกหลายเล่ม จะขอยกตัวอย่างบางเล่มที่เด่นๆดังต่อไปนี้คือ 1. Mein Kampt เขียนโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์( Adolf Hitler ) ซึ่งถือเป็นคัมภีร์ทางการเมืองของชาวเยอรมัน และมีบทบาทในการสร้างทัศนคติของชาวเยอรมันเป็นอย่างมาก เช่น การกำจัดชาวยิว และสงครามโลกครั้งที่ 2 2. The Communist Manifesto เขียนโดย คาร์ล มาร์กซ์ และ เฟรดริค เองเกลส์ ( Karl Marx and Friedrich Engles ) เป็นหนังสือที่สำคัญและมีอิทธิพลเช่นเดียวกับหนังสือเรื่อง Das Kapital 3. An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations เขียนโดย อดัม สมิธ ( Adam Smith ) เป็นตำราที่ช่วยเผยแพร่ลัทธิทุนนิยมไปทั่วโลกเช่นกัน 4. The Prince เขียนโดย นิโคโล แมคเคียเวลลี่ ( Niccolo Machiavelli ) เป็นหนังสือทางด้านการเมืองที่สำคัญ โดยผู้เขียนได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนที่จะชี้ให้เห็นถึงนักการเมือง ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของเจ้าเล่ห์ เจ้าเพทุบาย ผู้หลอกลวง ไร้ศีลธรรม หรือไม่มีคุณธรรม และสุดท้ายแสดงให้เห็นว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว ทำเพื่อตนเองทั้งสิ้น หนังสือเรื่องนี้เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1513 แต่ยังไม่ได้รับการจัดพิมพ์ จนปี ค.ศ. 1532 ถึงได้จัดพิมพ์และหลังจากนั้นอีก 5 ปีต่อมา นิโคโล แมคเคียเวลลี่ ก็เสียชีวิต หนังสือเรื่องนี้เป็นคู่มือสำหรับ กษัตริย์ หรือเจ้าผู้ครองนคร ( หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า เป็นคู่มือของผู้ปกครองแบบเผด็จการ ) ที่แนะนำเจ้าผู้ครองนครว่า ทำอย่างไรจึงจะได้รับหรือสร้างพลังอำนาจ ซึ่งเป็นพลังอำนาจที่มิใช่เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งเป็นกฏที่ผู้เขียนได้วางไว้เป็นหลักสากลว่า จะต้องมีการเมืองที่เหมาะสม 5. Uncle Tom's Cabin เขียนโดย แฮเรียต บีชอร์ สโตร์ ( Harriet Beecher Stowe ) เป็นหนังสือที่มีอิทธิพลมากในยุคก่อนสงครามกลางเมืองสหรัฐอเมริกา หนังสือเล่มนี้ขายดีนับเป็นล้านๆเล่ม แปลออกเป็นภาษาต่างๆหลายภาษา ( ภาษาไทยชื่อ กระท่อมน้อยของลุงทอม แปลโดย อ. สนิทวงศ์ ) โดยผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นภาพชีวิตทาสนิโกร ซึ่งต้องทนทุกข์ทรมาน ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์สลดใจ และมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้มีการเลิกทาสในสหรัฐอเมริกา เมื่อประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ( Abraham Lincoln ) ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วได้เกิดแรงบันดาลใจจากการอ่านเรื่องชีวิตของทาสผิวดำผ่านตัวละครที่ชื่อ ลุงทอม จึงทำให้การเลิกทาสเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ชาร์ลส์ ซัมเนอร์ ( Charles Sumner ) ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า " นักเขียนสตรีตัวเล็กๆคนนี้ เป็นผู้เขียนหนังสือที่ทำให้เกิดสงครามครั้งยิ่งใหญ่ ถ้าหากไม่มีหนังสือเรื่องกระท่อมน้อยของลุงทอม ลินคอล์น อาจไม่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก็ได้ " คริค มอนโร ( Kirk Monroe ) ได้กล่าวว่า " สโตร์ มิใช่เป็นนักเขียนสตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลกเท่านั้น แต่ยังได้สร้างผลงานให้ชาวอเมริกันได้รับรู้ ในช่วงจุดวิกฤตประวัติศาสตร์ของพวกเขา ผลงานของเธอมีอิทธิพลอย่างมากต่อใครหลายๆคน และที่สำคัญมิใช่มีส่วนให้เกิดการเลิกทาสผิวดำเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดมีการเลิกทาสสำเร็จในใจของใครก็ตามที่อ่านหนังสือเธอ " พร้อมกันนี้งานเขียนของเธอยังมีอิทธิพลต่อนักเขียนรุ่นหลัง เช่น Serah Orne , Jewett Mary และ Wilkine Freeman 6. The Republic เขียนโดย พลาโต้ (Plato) หนังสือเล่มนี้มีชื่อเสียง มีอิทธิพลและมีผู้อ่านอย่างกว้างขวางเป็นการบรรยายถึงรัฐในอุดมคติ (utopia) นั่นก็คือ รัฐก็คือคน, คนเป็นอย่างไร รัฐก็เป็นอย่างนั้น รัฐประกอบขึ้นด้วยธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งอยู่ในรัฐและเราจะทำให้มนุษย์เป็นคนดีได้อย่างไร ซึ่งใครที่ต้องการเป็นนักเารเมืองจะต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ เอ็มเมอร์สัน นักปราชญ์ของอเมริกันกล่าวว่า "พลาโตคือนักปราชญ์ และปรัชญาก็คือพลาโต" หรือแม้แต่ โอมาร์ คัยยาม ที่กล่าวถึงในคัมภีร์อัลกุรอาน ยังกล่าวว่า "จงเผาหนังสือเสียให้หมด เพราะสิ่งที่มีค่านั้นมีอยู่ในหนังสือเล่มนี้แล้ว" ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ได้รับยกย่องว่าเป็นหนังสือเล่มสำคัญทั้งในด้านปรัชญา รัฐศาสตร์ กฎหมาย การศึกษาและวรรณคดี พร้อมวันนี้ก็ยังกล่าวถึงหนังสืออีกเล่มหนึ่ง เช่น นิทานของอีสป (Aesop : Fables) , อีเลียต และโอเดสสี (Iliad , Odyssey) เขียนโดย โฮเมอร์ (Homer) , Common Sense เขียนโดย โธมัส เพน (Thomas Paine) , Politics เขียนโดย อริสโตเติล (Aristotle) , Origin of Species เขียนโดย ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) และ Principia Mathematica เขียนโดย เซอร์ไอเซค นิวตัน (Sir Isaac Newton) เป็นต้น หรือแม้แต่ปัจจุบันในสังคมสารสนเทศ ใคร ๆ ก็รู้จักคำว่าไซเบอร์ (Cyber) อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์กหรือระบบอินเทอร์เน็ต แล้วยังมีการใช้คำนี้หลากหลาย เช่น Cyberspace , Cyber Caf? , Cyberporn หรือ Cybersex เป็นต้น ซึ่งจริง ๆ แล้วคำว่า ไซเบอร์สเปช เป็นคำที่นำมาใช้ ซึ่งมาจากนวนิยายวิทยาศาสตร์ เรื่อง นิวโรแมนเซอร์ (Nevromancer) ของวิลเลี่ยม กิบสัน (Willian Gibbson) นวนิยายเรื่องนี้ กล่าวถึง โลกอนาคตที่ถูกควบคุมโดยคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์ก โดยพระเอกของเรื่องชื่อ "เคส" เป็นแฮ็กเกอร์ (Hacker) ตัวฉกาจถูกว่าจ้างให้เข้าไปแฮ็กเครื่องคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ ที่ชื่อว่านิวโรแมนเซอร์ สุดท้ายเคสก็ทราบความจริงว่าผู้ที่อยู่บงการเบื้องหลังคำสั่งแฮ็กในครั้งนี้ไม่ใช่คน แต่เป็นคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์อีกเครื่องหนึ่ง ที่ทำงานร่วมกับนิวโรแมนเซอร์มาก่อนชื่อ วินเทอร์มิวต์ (Wintermute) ที่ฉลาดจนถึงขั้นมีความรู้สึกเป็นตัวตนและเริ่มเหม็นหน้าเพื่อนของมันเอง คำว่า ไซเบอร์สเปช ในเรื่องนี้หมายถึง โลกที่อยู่ภายใน "นิวโรแมนเซอร์" และ "วินเทอร์มิวต์" นั่นเอง (วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ. 2543 : 18 - 19) จากตัวอย่างที่กล่าวมา ได้แสดงให้เห็นว่าวรรณกรรมมีอิทธิพลและผลกระทบต่อสังคมเช่นไร วรรณกรรมมีส่วนอย่างมากที่จะให้แนวความคิด สร้างพลัง ให้ผู้อ่านได้รับความรู้ ความคิด และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งในระดับสังคมของผู้อ่าน ประเทศ และโลก วรรณกรรมจึงผูกพันกับสังคมอย่างแนบแน่น และมีบทบาทที่สำคัญในการชี้นำแนวทางให้กับคนในสังคมตลอดมา

ความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมและวรรณคดี จากการที่ได้ศึกษาความหมายของคำว่า วรรณกรรม และ วรรณคดีนั้นแม้มองเผิน ๆ ดูเหมือนว่าจะมีความหมายเกือบคล้ายกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง แต่ก็มีผู้เข้าใจผิด ๆ ระหว่างการใช้ 2 คำนี้อยู่เสมอ หากพิจารณาจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 (2539 : 754) วรรณกรรม หมายถึง งานหนังสือ งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด ไม่ว่าแสดงออกมาโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใดส่วน วรรณคดี หมายถึง หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี วันเนาว์ ยูเด็น (2537 : 5) กล่าวว่า วรรณกรรมและวรรณคดีแตกต่างกันตรงที่ว่า งานไหนมีคุณค่าทางศิลปะ ก็ถือเป็นวรรณคดี ส่วนวรรณกรรมจะหมายถึงงานทางหนังสือทั่ว ๆ ไป ซึ่งอาจจะมีคุณค่าเพียงทางด้านวิชาการ หรือความคิดเห็นอย่างเดียวก็ได้ หรือหมายถึงงานที่เป็นวรรณศิลป์ก็ได้ ดังนั้นความหมายของคำว่าวรรณกรรมจึงกว้างกว่าคำว่า วรรณคดี สำหรับ ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ (2514 : 58-133) ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์และความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมและวรรณคดีไว้ดังนี้ วรรณกรรมและวรรณคดี ถือว่าเป็นศิลปกรรมชนิดหนึ่ง มีถ้อยคำในภาษาที่พูดและเขียนเป็นวัสดุเช่นเดียวกับเส้นและสี เป็นวัสดุของจิตรกรรม และเสียงเป็นวัสดุของดนตรี นอกจากวัสดุดังได้กล่าวมาแล้ว ศิลปกรรมทั้งหลายมีความคิดและเรื่องราวเป็นเนื้อหา การประกอบศิลปกรรมเป็นสภาวะธรรมดาของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม ศิลปกรรมเป็นเครื่องสื่อความหมายหรือสื่อสาร ผู้ประกอบความคิด มีเรื่องราวที่จะสื่อให้แก่ผู้อื่น ความคิดและเรื่องราวเป็นสาร แต่ในบางครั้ง ผู้ประกอบอาชีพอาจเขียนหรือวาดหรือแต่งทำนองดนตรีไว้เพื่อสื่อแก่ตนเองในกาลเวลาต่อไป เพื่อกันความหลงลืม ดังนี้ก็อาจมีได้ วรรณคดีจะจำกัดใช้สำหรับวรรณกรรมที่ได้รับความยกย่องแล้วจากกลุ่มคนที่ได้รับความนับถือจากคนหมู่มากอีกต่อหนึ่ง เช่น เรื่องลิลิตพระลอ พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ เป็นต้น คำว่า วรรณกรรม จะใช้สำหรับหนังสือหรือเอกสารที่ได้ประกอบขึ้น มีลักษณะเป็นศิลปกรรมในฐานะที่มีรูปแบบ มีวัสดุและเนื้อหาประกอบขึ้นด้วยความพยายามที่จะสื่อสารด้วยประการหนึ่ง วรรณคดีมีคุณค่าทางความรู้ประการหนึ่ง กับคุณค่าทางสัมผัส หรือ รูป รส กลิ่น เสียง อีกประการหนึ่ง สัมผัสของผู้รู้รสวรรณคดีเป็นสัมผัสประณีต สัมผัสด้วยแสงจันทร์ ด้วยเมฆหมอก ด้วยเสียงจักจั่นเรไร จากถ้อยคำที่มีความหมายหนักหรือเบา ตื้นหรือลึก เป็นคำตรงหรือเปรียบเทียบ จากจังหวะ จากโวหารการบรรยายและพรรณนา สัมผัสนำมาซึ่งอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ ถ้าโกรธก็โกรธอย่างแสบร้อน ถ้ายินดีก็รื่นรมย์ซาบซ่าน ถ้าริษยาก็รุมเร้าบีบรัด ถ้าเสียดายก็เหมือนถูกแหวะเอาดวงใจไป ถ้าทุกข์ก็ระทมขมขื่น ถ้ารักก็เหมือนจมลงในห้วงทะเลลึก เป็นสัมผัสที่ลึกซึ้งและรุนแรง ถ้าวรรณกรรมใดไม่ทำให้เกิดสัมผัสและอารมณ์ดังกล่าว วรรณกรรมนั้นก็จะไม่จับใจผู้อ่าน และมักไม่ได้รับความยกย่องเรียกว่าเป็นวรรณคดี การที่จะพิจารณาว่า หนังสือเรื่องใดจะเป็นวรรณคดีหรือไม่นั้น ไม่ใช่งานง่ายเลย โดยมากจะหาคนที่เห็นพ้องต้องกันไม่ค่อยได้นอกจากเวลาจะล่วงไปมากและหนังสือนั้นอยู่คงทน พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นหนังสือที่คนอ่านไม่อยากให้สูญไปจากความทรงจำ ประสงค์จะให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปได้รักษาไว้ แม้กระนั้นจะตัดสินว่าหนังสือนั้นเป็นวรรณคดีเพราะเหตุเท่านั้นก็ยังไม่ได้ เพราะเราอาจประสงค์จะรักษาวรรณกรรมเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรืองานเขียนชิ้นหนึ่งชิ้นใด หรือชุดใดไว้ ด้วยเหตุหลายประการ เป็นต้นว่า หนังสือราชกิจจานุเบกษา เราย่อมอยากให้มีการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีทุกฉบับ เพราะประโยชน์แก่คนรุ่นหลังนั้นจะใหญ่หลวง จะเป็นเอกสารสำหรับค้นคว้ากฎหมาย ค้นคว้าภาษากฎหมาย และเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองและการปกครอง เป็นกระจกบานใหญ่ส่องให้ดูชีวิตของไทยได้หลายด้าน แต่ราชกิจจานุเบกษาก็คงไม่มีผู้ใดนับว่าเป็นวรรณคดี ในความหมายที่พิจารณานี้ เรามีทางตั้งเกณฑ์อีกทางหนึ่ง ซึ่งอาจรัดกุมกว่าอีกเล็กน้อย คือ วรรณกรรมใดเราใคร่เก็บรักษาไว้เป็นมรดกตกทอดถึงคนรุ่นหลัง เพื่อหวังประโยชน์ทางวรรณศิลป์วรรณกรรมนั้นจึงเข้าข่ายของวรรณคดี ส่วนชลธิรา กลัดอยู่ (2517 : 83-84) ได้กล่าวเสริมว่าเนื้อหาเป็นสิ่งสำคัญในการพิสูจน์คุณค่าของวรรณคดี ในขณะเดียวกันศิลปะการประพันธ์ เป็นสิ่งพิสูจน์คุณค่าของวรรณคดีในแง่วรรณศิลป์ วรรณคดีที่แท้จริงต้องมีความพร้อมในคุณค่าทั้งสองด้าน งานเขียนชิ้นใดมีคุณค่าด้านเนื้อหาสาระ แต่ขาดคุณค่าทางศิลปการประพันธ์ ก็เป็นเพียงงานเขียนที่ดีมิใช่วรรณคดี และงานเขียนใดมีแต่คุณค่าด้านศิลปการประพันธ์ แต่ขาดน้ำหนักคุณค่าด้านเนื้อหา ก็เป็นเพียงงานศิลปที่ฉาบฉวย ไม่ควรยกย่องว่าเป็นวรรณคดี สำหรับนวลจันทร์ รัตนากร (2526 : 28) อธิบายว่าวรรณคดีหมายถึง งานประพันธ์ชิ้นเลิศ สมบูรณ์ด้วยคุณค่าทางวรรณศิลป์ไม่ว่าใครจะเป็นผู้เขียน และเขียนในสมัยใด เช่น ลิลิตพระลอ อิเหนาขุนช้างขุนแผน ส่วนวรรณกรรม หมายถึงงานเขียนทั่ว ๆ ไป ทุกชนิดทุกประเภท ที่สามารถสื่อความได้ ดังนั้นงานเขียนทั้งหมดจึงเป็นวรรณกรรม แต่มีงานเขียนบางชิ้นเท่านั้นที่เป็นวรรณคดี ทางด้าน กุสุมา รักษมณี (2534 : 15-17) ได้ให้แนวคิดว่างานประเภทใดเรียกว่า วรรณคดี และประเภทใดเรียกว่าวรรณกรรมโดยให้ความเห็นว่า วรรณคดีใช้ในความหมายเจาะจงว่าเป็นงานประพันธ์ในสมัยก่อน และเป็นงานที่มีคุณค่า มีผู้ยกย่องเป็นเพราะกาลเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์เป็นที่ยอมรับ ส่วนวรรณกรรมใช้ในความหมายกว้างกว่า เป็นงานประพันธ์ทั่ว ๆ ไป และความหมายเจาะจงว่าเป็นงานประพันธ์ร่วมสมัย คำศัพท์ทั้งสองคำนี้ไม่น่ามีปัญหาถ้ามีคำอธิบายที่แจ่มแจ้งชัดเจนจนเป็นที่ยอมรับจากผู้ใช้เสียแต่ต้น โดยเฉพาะคำอธิบายในพจนานุกรมที่เป็นหลักในการใช้ภาษาไทย แต่พจนานุกรมก็บอกเพียงแต่ว่า วรรณกรรมคืองานหนังสือ วรรณคดีคือหนังสือที่ได้ยกย่องว่าแต่งดี ตามความหมายนี้วรรณกรรมเป็นคำกว้าง ๆ ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นงานร่วมสมัยหรือไม่ ส่วนวรรณคดีเป็นคำเจาะจง ถ้าเช่นนั้น นวนิยายเรื่อง "ตลิ่งสูง ซุงหนัก" ของนิคม รายยวา ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนก็น่าจะเป็นวรรณคดี เพราะต้องแต่งดีจึงได้รับการยกย่อง แต่ก็ไม่มีใครเรียกว่าวรรณคดี หรืออาจจะรอให้พ้นจากสภาพวรรณกรรมร่วมสมัยก่อนพร้อมกันนี้ได้อ้างถึงข้อคิดเห็นของพระยาอนุมานราชธนว่า หนังสือที่แต่งขึ้นและเขียนตีพิมพ์เป็นเรื่องแล้ว ย่อมเรียกได้ว่าเป็นวรรณคดี แต่หนังสือที่วรรณคดีสโมสรยกย่องสมควรได้รับประโยชน์คือ หนังสือที่มีลักษณะตามที่กำหนดเงื่อนไขไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้นส่วนหนังสืออื่นๆ ซึ่งไม่เข้าอยู่ในข่ายแห่งข้อความในพระราชกฤษฎีกาก็ต้องถือว่าเป็นวรรณคดีด้วยเหมือนกัน และอธิบายเพิ่มเติมว่าวรรณคดี เป็นศัพท์บัญญัติมาจากคำว่า Literature ซึ่งมี 2 ความหมายดังนี้ 1. ข้อเขียนที่แต่งขึ้นเป็นหนังสือ จะแต่งดีหรือไม่ดีเป็นเรื่องดีหรือเลว จะเป็นหนังสือของชาติใด ภาษาใด หรือยุคใด - สมัยใด ก็ได้ชื่อว่าเป็นวรรณคดีทั้งนั้น 2. บทประพันธ์ซึ่งมีลักษณะเด่นในเชิงประพันธ์ มีค่าทรงอารมณ์ และความรู้สึกแก่ผู้อ่านผู้ฟัง เป็นวรรณคดีที่มีวรรณศิลป์หากพิจารณาตามความหมายที่พระยาอนุมานราชธนได้ให้ไว้ ความหมายแรก ซึ่งเป็นความหมายกว้างของคำว่าวรรณคดี น่าจะหมายถึง วรรณกรรม ส่วนความหมายที่สองเป็นความหมายเฉพาะของคำว่าวรรณคดี ซึ่งหมายถึง หนังสือที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดีจากข้อคิดเห็นของกุสุมา รักษมณี ได้สอดคล้องกับแนวความคิดของ รัญจวน อินทรกำแหง , สมพันธุ์ เลขะพันธุ์และ ประทีป วาทิกทินกร (2519 : 4-5) ที่ได้กล่าวถึงความแตกต่างของวรรณกรรมและวรรณคดีว่า นอกจากจะถือคุณสมบัติด้านวรรณศิลป์เป็นเครื่องแบ่ง วรรณคดีกับวรรณกรรมดังกล่าวแล้ว ยังมีผู้ถือคุณสมบัติด้านเวลา หรือความเก่า - ใหม่ เป็นเครื่องแบ่งวรรณกรรมกับวรรณคดีด้วย กล่าวคือ จะถือว่าหนังสือซึ่งเขียนขึ้นตั้งแต่ต้นจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นเวลาที่ยังไม่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมตะวันตกเป็นหนังสือประเภทวรรณคดี และถือว่าหนังสือที่เขียนขึ้นหลังจากนั้นอันเป็นเวลาที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมตะวันตกแล้ว เป็นหนังสือประเภทวรรณกรรม และยังสอดคล้องกับแนวความคิดของรุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน (ม.ป.ป. : 1) ซึ่งกล่าวว่าคำว่า "วรรณคดี" หรือ "วรรณกรรม" ต่างแปลมาจากคำว่า "Literature" โดยขออนุญาตใช้คำว่า "วรรณคดี" ในกรณีที่พาดพิงถึงงานเขียนในอดีต และใช้คำว่า "วรรณกรรม" กรณีที่กล่าวถึงงานเขียนร่วมสมัยหรืองานเขียนปัจจุบัน ส่วน ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ (2539 : 155) กล่าวว่า คำว่า "วรรณกรรมกับวรรณคดี บางคนใช้แทนกันได้ไม่แยกความหมายกัน แต่บางคนแยกออกจากกัน ใช้คำว่าวรรณคดี หมายถึง วรรณกรรมที่ได้รับการยกย่องแน่ชัดแล้วส่วนคำว่าวรรณกรรม ใช้เพื่อหมายถึง งานประพันธ์ที่ใช้วาจาเล่าบอก ร้องเป็นเพลง โดยยังไม่ได้เขียนลงเป็นตัวอักษรเลยก็มี ในที่นี้จะใช้วรรณกรรม ในความหมายกว้างที่สุด ครอบคลุมถึงงานเขียน งานประพันธ์ที่ได้รับการยกย่อง ไปจนถึงเรื่องเล่า และบทร้องที่ยังไม่ได้เขียนเป็นตัวอักษรด้วยจากทัศนะและความคิดเห็นต่าง ๆ ของผู้เขียนถึงความแตกต่างระหว่าง วรรณกรรมกับวรรณคดีพอสรุปได้ว่าความแตกต่างนั้นมีอยู่ 2 ประการ คือ คุณภาพของงาน และกาลเวลาของการผลิตงาน ทำให้เกิดความแตกต่างขึ้น นั่นก็คือ วรรณกรรม หมายถึง หนังสือที่แต่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นหนังสือดีหรือไม่ดี กล่าวคือไม่มีการประเมินค่าหนังสือแต่อย่างใด ส่วนวรรณคดี หมายถึง งานเขียนที่มีวรรณศิลป์ หรือแสดงศิลปะของการแต่ง และการประสานองค์ประกอบอื่น ๆ เข้าด้วยกันอย่างเหมาะสมกลมกลืน เช่น ความงามของภาษา ความงามของเนื้อหาที่กลมกลืนกับรูปแบบ ความงามความมีสาระ ข้อคิดเห็นหรือแนวคิดที่แทรกแฝงอยู่ในเนื้อเรื่อง ส่วนประเด็นทางด้านกาลเวลา (เฉพาะวรรณคดีไทย) จะเขียนขึ้นตั้งต้นจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นเวลาที่ยังไม่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมตะวันตก ก็ถือเป็นวรรณคดีทั้งสิ้น